กรุงเทพ 22 ต.ค. – ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “เก็บค่าธรรมเนียมรถติด” คันละ 50 บาท เพื่อเติมกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทุกคนได้ใช้ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”
ภายหลังการประกาศเดินหน้านโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” อย่างจริงจังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยนโยบายนี้ริ่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบายของอดีตนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งความชัดเจนของนโยบายนี้จากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ที่ได้ประกาศเดินหน้าแน่นอนทุกเส้นทาง พร้อมกำหนดการที่ชัดเจนภายใน “เดือนกันยายน 2568”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้เริ่มต้นศึกษาแนวคิดการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge)” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ย่านสุขุมวิท รัชดาภิเษก และ สีลม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด จูงใจให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้เป็นทางหลัก โดยพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการจราจรราว 7 แสนคันต่อวัน แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจากประเทศที่มีการดำเนินการและประสบความสำเร็จ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ อิตาลี สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา รายได้จากการจัดเก็บนี้ จะนำมารวมอยู่ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะจัดเก็บในอัตราเพิ่มขึ้น อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 50 บาท คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และจะนำเงินรายได้ทั้งหมดไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากภาคเอกชนเพื่อรัฐบาลจะได้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าคนละ 20 บาทตลอดสาย
จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวสำนักข่าวไทย ย่านถนนรัชดาภิเษกซึ่งเป็นถนนที่มีการจราจรหนาแน่นและเป็นหนึ่งในเส้นทางที่จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด พบว่า ประชาชนที่ใช้ถนนเส้นนี้เป็นประจำ แสดงความคิดเห็น ว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเพราะจะทำให้คนที่ทำมาหากินบนถนนเส้นนี้ได้รับความเดือดร้อนจากค่าธรรมเนียมที่เก็บวันละ 50 บาท ซึ่งหากต้องมาขายของทุกวันบนถนนเส้นนี้ จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 1,500 บาท ดังนั้นจึงไม่เห็นกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลควรจะหาเงินจากแหล่งอื่นมาทดแทนการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะดีกว่ามาเก็บกับประชาชน
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร ให้สัมภาษณ์ในรายการนาทีลงทุนทางช่อง 9 กด 30 ว่า เห็นด้วยที่จะทำให้ค่ารถไฟฟ้าถูกลงคนละ 20 บาทตลอดสาย เหมือนกับที่ทำได้ในรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีชมพู และสายสีเหลือง หากจะเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายทาง รฟม.จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้เอกชนปีละ 8 พันล้านบาท ซึ่งทาง รฟม.มีเงินอยู่ประมาณ 24,000 ล้านบาท จากส่วนแบ่งรายได้สัมปทานซึ่งจะจ่ายชดเชยได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น ดังนั้นต้องดูว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดหรือจำเป็นต้องซื้อสัมปทานรถไฟฟ้ามูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาทคืนหรือไม่ เพราะรถไฟฟ้าบางสายไม่จำเป็นต้องซื้อคืนเพราะใกล้จะหมดอายุสัมปทาน สำหรับนโยบายนี้มีการพูดถึงมานานแล้วแต่ไม่มีใครกล้าทำเพราะจะกระทบกับคะแนนเสียง นอกจากนี้หากมีนโยบายนี้ออกมาจริงๆ จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดอย่างไร เพราะกรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอยจำนวนมาก คนที่รู้เส้นทางก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียม ส่วนคนที่มีบ้านอยู่ในถนนที่จะเก็บค่าธรรมเนียม จะทำอย่างไร และจะเก็บค่าธรรมเนียมช่วงไหน ต้องไปดูรายละเอียดและข้อสรุปอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า นี่เป็นแนวคิดเท่านั้นและพร้อมหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแหล่งเงินทุนมาใช้ดำเนินนโยบายนี้ ซึ่งจะมีหลายแนวทางในการระดมทุน ข้อเสนอที่จะเก็บค่าธรรมเนียมขับรถเข้าเมืองในช่วง 5 ปีแรก 40-50 บาทต่อครั้ง “นี่เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาเท่านั้น สถานะในปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว.-513-สำนักข่าวไทย