กรุงเทพฯ 8 ต.ค. – คลังสรุปรับฟังความเห็น เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา “เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า หลังจาก สศค.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … ตั้งแต่วันที่ 2-18 ส.ค.67 เพื่อรับฟังความเห็นจากส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไป ผ่านทางเว็บไซต์ของ สศค. และผ่านระบบกลางของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มุ่งเน้นนำข้อมูลจากองค์กร บุคคลที่ออกความเห็นข้อเสนอแนะ นำมารวบรวมส่งให้กระทรวงคลังพิจารณาตามขั้นตอน ประกอบด้วย การแก้ไขชื่อเป็น “ร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจร” (Integrated Resort Act) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งผลต่อภาพลักษณ์ในเชิงบวกต่อโครงการ การกำหนดโครงสร้างและการบริหารจัดการของคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกฯ เป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน เพื่อกำหนดนโยบายของสถานบันเทิงครบวงจรทั้งหมด รวมทั้งการดูแลการบริหารจัดการ การป้องกันแก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบ การกำหนดจำนวนใบอนุญาต และพื้นที่ประกอบการ ตลอดจนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขออนุญาต และเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ประเภทกิจการ อาจดำเนินการได้ เวลาเปิด-ปิด หลักเกณฑ์ผู้ถือหุ้น การพิจารณาต่ออายุหรือเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น ในการรับฟังความเห็น ระบุว่า คณะกรรมการฯ มีอำนาจมากเกินไป ควรกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร หรือมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการประกอบสถานบันเทิงครบวงจรไว้ในร่าง พ.ร.บ. ให้ชัดเจน
ในการประกอบธุรกิจในสถานบันเทิงครบวงจร มีข้อเสนอ ให้กำหนดธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.อย่างน้อย 9 ประเภท ประกอบด้วยประเภทธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้ (1) ห้างสรรพสินค้า (2) โรงแรม (3) ร้านอาหาร ไนท์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์ (4) สนามกีฬา (5) ยอร์ช และครูซซิ่งคลับ (6) สถานที่เล่นเกม (7) สระว่ายน้ำและสวนน้ำ (8) สวนสนุก (9) พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP (10) กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด)
ด้านจัดเก็บภาษี เสนอให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผู้ประกอบการ โดยไม่ควรเก็บภาษีเงินได้จากผู้เล่น ทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างชาติ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ผู้รับใบอนุญาตในช่วง 10 ปีแรก ด้านการคัดเลือก และสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาต ควรเปิดประมูลอย่างเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ กำหนดคนไทยถืออย่างน้อย 30-51% เพื่อให้เอกชนในไทยมีรายได้ ควรกำหนดอายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ฝ่ายมองว่า 10 ปี บางฝ่ายมองว่า ใบอนุญาต 30 ปี ต่ออายุได้อีก 30 ปี หรือกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุ 50-60 ปี นับว่ายังไม่มีข้อสรุป โดยผู้ได้รับใบอนุญาต ไม่เกิน 3-7 ราย การกำหนดพื้นที่มีใบอนุญาต เช่น ในกรุงเทพฯ ควรไม่เกิน 2-3 ราย และนอกกรุงเทพฯ ไม่เกิน 5-7 ราย
สถานที่ตั้ง และการเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากาสิโน ต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนใน พ.ร.บ. เช่น ต้องมีที่ตั้งนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมลฑล เพื่อกระจายรายได้ ควรกระจายไปยังภูมิภาคที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง หัวหิน หรือ กทม. สำหรับค่าธรรมเนียมการเข้าเล่นกาสิโนของคนไทย 1,000-2,000 บาท ในช่วง 10 ปี อัตราเดียวกันทั่วประเทศ ส่วนในด้านพื้นที่ให้บริการกาสิโน มีสัดส่วน 5-20% ของพื้นที่เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ทั้งหมด ควรเปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ควรให้มีการเล่นชนิดอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น มวย, ม้า และประเภทของกาสิโน เล่นในต่างประเทศเทียบเคียงด้วย
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ จัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบทางสังคม มีมาตรการป้องกันไม่ให้ สถานบันเทิงครบวงจรอาจกลายเป็นแหล่งของการฟอกเงิน ของกลุ่มสีเทา มีแนวทางป้องกันปัญหาด้านสังคม การติดพนัน ครอบครัวแตกแยก ปัญหาอาชญากรรม และความสงบเรียบร้อยของประเทศ เมื่อรัฐมนตรีคลังพิจารณาแล้ว เตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณา และต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน การผลักดัน Entertainment Complex จึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง .-515 -สำนักข่าวไทย