ชลบุรี 10 ก.ย.- ส.อ.ท.ยืนยันในช่วง 10 ปีนับจากนี้ไปอีสเทิร์นซีบอร์ดและอีอีซีมีน้ำพอใช้แน่
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวยืนยันว่า ในช่วงจากนี้ไป 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2571 จะมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ระยอง และจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ส่วนในอนาคตระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มวางแผนจัดหาต่อไป
พื้นที่ 3 จังหวัดนี้ ใช้น้ำปีละ 400 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี และในช่วงต่อไปจะใช้น้ำเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี หากรวมการเกิดขึ้นของโครงการอีอีซี ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 200-300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ปัจจุบันมีแหล่งน้ำรองรับความต้องการใช้แล้วรวม 500 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี แหล่งน้ำที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กต่าง ๆ อีกรวม 500 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี รวมแล้วจะมีแหล่งน้ำสำหรับรองรับความต้องการใช้ 1,000 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปีในระยะต่อไป
นายเจน กล่าวว่า จากเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อพบปะนักลงทุน พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจและพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี และยืนยันว่า ประเทศไทย ยังเป็นฐานการลงทุนหลักของนักลงทุนญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเซีย โดยถือเป็นบ้านที่ 2 ส่วนการลงทุนในประเทศอื่นนับเป็นการขยายการลงทุนต่อไปจากประเทศไทย ส่วนพระราชบัญญัตอีอีซี คาดว่า จะผ่านการพิจารณาและออกบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้มียอดขอโครงการการส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะเพิ่มมากขึ้น
นายเจน กล่าวว่า จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา พื้นที่ 3 จังหวัดของพื้นที่โครงการอีอีซี มีอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างมากและเติบโตมีเครือข่ายทั่วโลก นับเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเกิดขึ้นของโครง อีอีซี
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า น้ำจะมีเพียงพอถึง ปีพ.ศ.2571 หลังจากนั้น จำเป็นต้องพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ซึ่งแหล่งที่เหมาะสมได้แก่ แหล่งสตึงมนัมประเทศกัมพูชา แต่การดำเนินการจะต้องอยู่ในรูปแบบของการเจรจาในลักษณะรัฐต่อรัฐ ลักษณะโครงการอาจอยู่ในรูปของการวางท่อส่งน้ำยาวกว่า 100 กิโลเมตรจากประเทศกัมพูชามายังไทยนำน้ำเสริมมาลงที่แหล่งประแสหรือวังโตนด โดยกรมชลประทานจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป นายบวร ย้ำว่า ถ้าหากจะจูงใจให้มีการลงทนจากต่างประเทศ การมีแหล่งน้ำรองรับการเกิดขึ้นของโครงการ นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากและไม่อาจจะล่าช้าได้-สำนักข่าวไทย
ดูข่าวเพิ่มเติม