ทำเนียบฯ 9 เม.ย. – ครม.คลอด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือร้อยละ 0.01 หวังซื้อขายบ้าน 8 แสนล้านบาท ดันจีดีพีเพิ่มร้อยละ 1.7
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ รองรับการยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ประกอบด้วย 1.การลดค่าจดทะเบียนโอน และลดค่าจดจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม ไม่เกิน 7 ล้านบาท มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่พรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
- มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านด้วยตนเอง โดยนำค่าก่อสร้างบ้าน ให้ยื่นหักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาท สำหรับค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลัง จึงเป็นกลุ่มสร้างบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท เน้นสัญญาก่อสร้างตั้งแต่วันนี้ (9 เมษายน 67) ถึง 31 ธันวาคม 2568 โดยต้องจ้างผู้รับเหมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
- โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เน้นปล่อยสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ต้องการซื้อบ้าน คิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3 ล้านบาท กู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี ยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ
- โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ธอส.เตรียมปล่อยกู้ ให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.98 ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ 5.การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ในวงเงิน ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน กรณีคอนโดมิเนียม พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปี 2568
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาภาคอสังหาฯติดลบถึงร้อยละ -8.8 บ้านอยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล เหลือค้างอยู่ 2.5 แสนหน่วย ยอมรับว่ามาตรการครั้งนี้ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษี 2,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ทำให้ อปท. จัดเก็บรายได้จากภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาทางอ้อม คาดหวังเกิดการลงทุนในภาคอสังหาฯ 4-5 แสนล้านบาท เกิดการซื้อขายบ้านอยู่อาศัย 8 แสนล้านบาท เกิดการบริโภค 1.2 แสนล้าน จึงส่งผลให้จีดีพีเพิ่มร้อยละ 1.7-1.8
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินร่วมออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ต่อปี โดยปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.95 วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 7,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี พร้อมเงื่อนไขเงินงวดผ่อนชำระต่ำพิเศษ เริ่มต้น 2,500 บาทต่อเดือน โดยสามารถยื่นคำขอกู้กับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567
2) โครงการสินเชื่อ D-HOME สำหรับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการนำไปเป็นเงินลงทุน ได้แก่ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.50 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป มองว่าวงเงินสินเชื่อของทั้งออมสินและ ธอส. ร่วมกัน 4 หมื่นล้านบาท จะปล่อยกู้ได้หมดเต็มวงเงิน เพราะหลายโครงการมีเงื่อนไขผ่อนปรน ดึงดูการซื้อบ้าน
เพื่อรองรับวิสัยทัศน์ Thailand Vision ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ทมีเป้าหมายในการดึงดูดนักลงทุนและผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้มาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงการปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้น ครม. จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
“กระทรวงการคลัง ยังศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับการซื้อบ้านอยู่อาศัยของชาวต่างชาติเวลา 100 ปี ต้องหารือกับหลายฝ่ายเกิดผลดี-เสีย อย่างไร คาดว่าจะสรุปได้ในเร็วๆ นี้ คลังยังเดินหน้าเจรจากับ ธปท.เกี่ยวกับมาตการเพื่อควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) เพราะ ปธท.หวังส่งเสริมวินัยทางการเงิน ห้ามการกู้ซื้อบ้านมือเปล่า หรือบ้านราคาสูงและบ้านหลังที่สองขึ้นไป เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว ลดความเสี่ยงสินเชื่อ ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ มองว่า กระทบกำลังซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3 ทำให้ต้องใช้เงิน ดาวน์สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอตัดสินใจซื้อ เรื่องเหล่านี้ต้องหารือเพิ่มเติมกับหลายฝ่ายให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน” นายกฤษฎา กล่าว. -515.- สำนักข่าวไทย