กรุงเทพฯ 15 มี.ค.-นายกฯ ขอทุกหน่วยงานพยายามมากขึ้น หาแนวทางช่วยแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรภาครัฐ ย้ำข้าราชการเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนประเทศติ หากมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือเป็นสารตั้งต้นของหายนะ แม้ ธปท. จะยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่หน่วยงานออกเงินกู้ปรับลดให้ จึงขอขอบคุณ กำชับดึงข้าราชการกู้ในระบบมากขึ้น
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้ แก่บุคลากรภาครัฐ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟังการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานงานต่างๆ รวม 11 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารออมสินในฐานะสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสมาคมธนาคารไทยรายงานแนวทางและผลการดำเนินงานแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลากรภาครัฐตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 เพื่อขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกำกับแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนรายย่อยกล่าวรายงานว่า ขณะนี้หนี้ทั้งระบบมีมูลหนี้สูงกว่า 16 ล้านล้านบาท สถานการณ์หนี้เสียทุกประเภทส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมาก
หนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบซึ่งแบ่งประเภทเป็น การกู้เพื่อบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อภาคเกษตร สินเชื่อ OD และหนี้อื่นๆ โดยพบว่า ปัญหาหนี้สินมีความซับซ้อนและไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง ในการแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐทั้งอำนาจฝ่ายบริหารในด้านการจัดการของหน่วยงานนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแล อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น และอำนาจของฝ่ายตุลาการ เพื่อนำมาซึ่งกระบวนการไกล่เกลี่ยและการบังคับคดีที่เหมาะสมและเป็นธรรม
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐปรับปรุงและกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ โดยให้มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามแนวทางเดียวกับระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ พศ. 2551 ให้สถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสวัสดิการให้ต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต่ำ จากการที่ภาครัฐดูแลและประสานงานให้มีการชำระหนี้ นอกจากนี้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลให้สหกรณ์ทุกแห่งให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและกำหนดเงินต้นให้เหมาะสม รวมถึงใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้ลงตามความจำเป็น
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้สวัสดิการของบุคลากรภาครัฐ เป็นยอดหนี้ที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐ 3.1 ล้านคน ที่ยังไม่รวมสมาชิกในครอบครัวเป็นลูกหนี้เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ 1,378 แห่ง จำนวนลูกหนี้ 2.8 ล้านคน และมีธนาคารที่ให้สินเชื่อในลักษณะสวัสดิการร่วมอีกอย่างน้อย 3 แห่ง คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ในขณะที่ลูกหนี้จำนวนหนึ่งยังคงชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารอยู่ แต่ปรากฏว่า มีบุคลากรภาครัฐจำนวนมากที่มีรายได้สุทธิหลังหักการชำระหนี้จากเงินรายเดือนแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อีกทั้งมีบุคลากรของรัฐจำนวนมากที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อการดำรงชีพอย่างรุนแรงและต่อเนื่องซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน พร้อมระบุว่า การดำเนินการและการเตรียมการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี คืบหน้าแล้วในระดับหนึ่ง
นายเศรษฐากล่าวภายหลังรับทราบผลการดำเนินงานจากหัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารองค์กรทั้ง 11 หน่วยงานว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลาการของรัฐก้าวหน้ามาถึงจุดหนึ่ง แต่ต้องการให้ทุกหน่วยงานพยายามแก้ปัญหานี้ให้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากข้าราชการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินไปข้างหน้า หากมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือเป็นสารตั้งต้นของหายนะของประเทศ
ทั้งนี้การเป็นหนี้จนชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานแล้ว รายได้ไม่เพียงพอจะจ่ายดอกเบี้ยซึ่งอาจทำให้บุคลากรของรัฐหันไปพึ่งยาเสพติดหรือกระทำการทุจริตเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ ต้องมาร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาเช่น แก้ไขระเบียบและกฎหมายว่า ไม่ให้คนเป็นหนี้ต้องออกจากราชการ ให้เงินเดือนหลังหักชะระหนี้แล้วยังเหลือร้อยละ 30 ออกสินเชื่อพิเศษ
สิ่งที่หน่วยงานต่างๆ กล่าวเหมือนกันคือ การลดดอกเบี้ย โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า เข้าใจถึงการทำงานของหน่วยงานที่ออกสินเชื่อว่า ต้องคำนึงถึงผลกำไรซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดถึงผลการดำเนินงาน แต่การที่ยอมเฉือนเนื้อโดยลดดอกเบี้ยให้เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย จึงขอขอบคุณ
พร้อมกันนี้เน้นย้ำต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการแก้หนี้สินของบุคลากรภาครัฐ โดยดึงข้าราชการให้เข้าสู่การกู้ในระบบมากขึ้น แม้ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ จะมีข้อจำกัดในการทำงานจนทำให้หนี้สินของบุคลากรของรัฐนั้นยังไม่ลดลง การที่ผู้บริหารระดับสูงมาร่วมกันทำงานเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมให้ได้ ขณะนี้ก้าวมาถึงจุดหนึ่งแล้ว แต่อยากให้มีความทะเยอทะยานที่จะช่วยเหลือประชาชนมากยิ่งขึ้นอีก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือ การเพิ่มรายได้ของครอบครัว การจัดสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยที่สมเกียรติสมศักดิ์ศรี การรักษาพยาบาลที่ดีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยทุกส่วนเป็นองค์ประกอบสำคัญ
ทั้งนี้การแก้ไขหนี้สินเป็นกระบวนการที่ต้องการความใส่ใจ ความร่วมมือ และความต่อเนื่องจึงขอให้กำลังใจและจะขอรับการรายงานความก้าวหน้าและความสำเร็จอีกครั้งในเร็วๆ นี้ อีกทั้งจะะเร่งหารือกับผู้เกี่ยวข้องว่า ควรประสานขอความร่วมมือใด จากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เพื่อให้ภารกิจการแก้ไขหนี้มีความสำเร็จ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป.- 512 – สำนักข่าวไทย