กรุงเทพฯ 12 มี.ค. – ยูโอบี คาดปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโต 2.8% ได้แรงหนุนจาก ใช้จ่ายผู้บริโภค-ท่องเที่ยว ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง เงินเฟ้อสูง-ภาวะเศรษฐกิจถดถอย-ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
นายกิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในปี 2567 มีปัจจัยบวก คืออัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่งผลให้ ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยประมาณกลางปี และความเป็นไปได้ที่จะไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง อาทิ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางอาจยังคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงเอาไว้เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ ที่อาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย คาดว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการท่องเที่ยว รัฐบาลตั้งเป้าที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาท ภายในปีนี้ แม้จะมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราเงินเฟ้อที่สูง และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงจากต่างประเทศซึ่งนักลงทุนจะต้องจับตาดูอย่างระมัดระวัง
“ปี 2567 เป็นปีที่มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยง สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนคือต้องคำนึงถึงวงจรของตลาด เหตุการณ์การเมืองและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ยูโอบีแนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นและมองหารายได้ที่มั่นคงด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย” นายกิดอน เจอโรม เคสเซล กล่าว
ธนาคารยูโอบี แนะนำการลงทุนโดยคำนึงถึงความเสี่ยงของ ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีความผันผวนต่ำ และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการทางการเงินในระยะยาว ทั้งนี้ ตราสารหนี้ระดับลงทุนมีแนวโน้มว่าจะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปีนี้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อชะลอตัว และคาดว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยูโอบีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในกลางปี 2567 นอกจากได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่น่าสนใจในปัจจุบัน ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (capital gain) จากการลงทุนในตราสารหนี้ได้ นักลงทุนควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นถึงระยะกลางในช่วงต้นปี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวเมื่อตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการออกตราสารหนี้ลง.-516-สำนักข่าวไทย