กรุงเทพ 6 มี.ค. – กกร.คาดจีดีพีปี 2567 อยู่ที่ 2.8-3.3% ต้องลุ้นให้การส่งออกต่อเดือนมีมูลค่ามากกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาแม้จะรั้งอันดับ 1 ในขณะนี้ก็ตาม คาดอัตราเงินเฟ้อทั้งปี จะอยู่ที่ 0.7-1.2%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุมประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 โดยยังคงคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้จะอยู่ที่ 2.8-3.3% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากหลายปัจจัย โดยการส่งออกยังฟื้นตัวได้ช้า การท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม และกำลังซื้อภายในประเทศถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และคาดอัตราเงินเฟ้อทั้งปี จะอยู่ที่ 0.7-1.2%
ทั้งนี้ แม้ภาคการส่งออกจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว แต่คาดว่าทั้งปีมูลค่าการส่งออกจะเติบโตในระดับต่ำที่ 2-3% อีกทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศยังมีสูง ขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออก มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องลุ้นให้การส่งออกต่อเดือนมีมูลค่าสูงกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐจะเป็นผลดีกับไทย โดยจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ๆมาเพิ่มเติม
สำหรับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง 50% เนื่องจากชาวจีนหันไปท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลักซึ่งขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในบ้านเรา จีนขึ้นมารั้งอันดับ 1 แล้ว อันดับ 2 มาเลเซียและอันดับ 3 รัสเซีย คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะอยู่ที่ 34-35 ล้านคน ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวจะต้องมีสิ่งที่ดึงดูดเงินในกระเป๋าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายต่อคน หัวละ 40,000 บาท ต่อการเดินทางเข้าประเทศไทยหนึ่งครั้ง ดังนั้นจะต้องทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยขณะเดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทยให้ได้มากถึง 50,000 บาทต่อคนต่อหัว โดยทาง กกร.มองไปที่การผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อเพิ่มกำลังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ปัญหาหนี้สินและกำลังซื้อภายในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนต่อไป
ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 จากปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ปรับเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ซึ่งเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง และหนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร. (ณ ธ.ค.66) ปี 2566
ในที่ประชุม กกร. ยังให้ความสำคัญกับกลไกการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ผ่าน ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่ ครม. ได้มีมติรับหลักการ และมอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ. อยู่นั้น ดังนั้น เพื่อให้การกลไกการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีความยั่งยืน และครอบคลุมปัญหาในทุกมิติทั้งจากปัญหา PM2.5 การเผาในที่โล่ง มลพิษจากภาคขนส่ง และมลพิษข้ามแดน กกร. จึงมีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ดังนี้
- เสนอให้มีผู้แทนภาคเอกชนจำนวน 4 ท่านเท่ากับภาคประชาชนเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการขับเคลื่อน 3 คณะ ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด 2) คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด 3) คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน
- บูรณาการการกำกับดูแล ด้านมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ดัชนีคุณภาพอากาศ และมาตรฐานการควบคุมต่างๆ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน
- ทบทวนการวางหลักประกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในการขออนุญาตประกอบกิจการ โดยควรนำเอาระบบการซื้อประกันภัยมาใช้ทดแทนในกรณีที่เกิดความเสียหาย รวมทั้งปรับบทลงโทษผู้กระทำความผิดให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
- ทบทวนการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำงบประมาณมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. โดยเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ที่ประชุม กกร. มีความกังวลถึงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผักและผลไม้ที่นำเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศไทย โดยในเดือนมกราคมการนำเข้าสินค้าได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 13,275.20 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.45 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการที่ผักและผลไม้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาครัฐต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ช่วยรัดกุมในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าผักและผลไม้ รวมทั้ง เพิ่มกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบสินค้าผักและผลไม้ที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงเรื่องที่กระทรวงการคลัง กำลังเดินหน้าการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า เป็นเรื่องที่ ธปท.เปิดกว้างและดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ภาคธนาคารไม่ได้ประหลาดใจแต่อย่างใด แต่ภาคธนาคารจะต้องเตรียมการและรับมือให้มากขึ้นเพราะจะมีธนาคารพาณิชย์เกิดใหม่ขึ้นมา เป็นการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ส่วนการที่ ธปท.ให้ธนาคารของรัฐบาล ร่วมทุนจัดตั้ง เอเอ็มซี มาบริหารหนี้เสียนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี. – 513-สำนักข่าวไทย