กรุงเทพฯ 25 ต.ค. -ธ.กรุงไทย เผย ส่งออกเดือน ก.ย. ขยายตัวร้อยละ 2.1 จับตาตลาดหลัก อ่อนแอกดดันการส่งออกช่วงปลายปี คาดส่งออกทั้งปี หดตัว -1.6%
นายชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง Krungthai COMPASS กล่าวว่า มูลค่าส่งออก ก.ย. 66 ขยายตัวร้อยละ 2.1 มูลค่า 25,476.3 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 2.1 สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ร้อยละ -1.75 แต่ยังขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.6 จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวได้ สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 64.8 หักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 0.7 รวมการส่งออก 9 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -3.8
ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว เช่น สหรัฐฯ กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ -10.0 สินค้าสำคัญ หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -1.2 )
ตลาดจีน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ร้อยละ 14.4 สินค้าสำคัญ ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้งคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -1.3 )
ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัวร้อยละ -5.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ขณะที่สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ และรถยนต์ เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 0.1 )
ตลาด EU27 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ร้อยละ -9.3 โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และยางพารา เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสารโทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกหดตัว -4.7%)
ตลาด ASEAN5 : กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ที่ 4.1%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สำหรับสินค้าที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออก 9 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -6.9 )
จับตาอุปสงค์ของประเทศตลาดหลักที่อ่อนแอยังคงกดดันการส่งออกสินค้าในช่วงปลายปี ภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ต.ค. (Flash Manufacturing PMI) ของประเทศญี่ปุ่นและยุโรปอยู่ในระดับหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลงต่อเนื่องสำหรับสหรัฐฯ แม้ดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 50 สะท้อนถึงภาคการผลิตมีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อน แต่ผู้ผลิตยังคงรักษาระดับสินค้าคงคลังในระดับต่ำตามอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ ท่ามกลางอุปสงค์สินค้าโลกที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าในช่วงปลายปีของไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างจำกัด (แม้อัตราการขยายตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 จะกลับมาเป็นบวกส่วนหนึ่งจากผลของฐานปีก่อนที่ต่ำ) ทำให้ Krungthai COMPASS คงประมาณการมูลค่าการส่งออกปีนี้มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -1.6 และสอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ซึ่งหดตัวต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย