กรุงเทพ 25 ก.ค.-ธปท.จี้ทุกภาคส่วนผนึกกำลังเปลี่ยนเกมธุรกิจสู่ ESG รับมือกีดกันทางการค้า ทางด้านโออาร์ พร้อมเปิดตัวซูเปอร์แอปพลิเคชั่น Xplore เชื่อมโยงชุมชนเข้าสู่ออนไลน์ ส่วน EXIM Bank เรียกร้องสถาบันการเงินผนึกกำลังหนุนเอสเอ็มอีปรับตัวสู่ ESG และบางจากฯ ลุยก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF ปริมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน ใน 2 ปี ตอบโจทย์ลดโลกร้อน พร้อมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนา “Book and Claim” รองรับซื้อขายSAF เคลมคาร์บอนเครดิต คาดเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ESG Game Changer” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันนี้เรารอไม่ได้ในเรื่องของโลกที่รวนขึ้นทุกวัน โดยเราอยู่ในจุดที่ต้องตั้งคำถามถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราเห็นภัยพิบัติที่หนักหน่วงมากขึ้น ทั้งอากาศที่ร้อนนานขึ้น แล้งนานขึ้น ฝนตกหนักขึ้น ขณะเดียวกัน ประเทศไทยอยู่อันดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ โดยอยู่อันดับที่39 จากการจัดอันดับทั้งหมด 48 ประเทศ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการอะไร ภายในปี 2050 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบถึง 43% ของ GDP
นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันเรื่องมาตรการต่าง ๆ จากต่างประเทศ ตลอดจนวิธีปฏิบัติของบริษัทต่างชาติว่าด้วยการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือ โดยสหภาพยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดนเริ่ม 1 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากกว่า 1,000 บริษัท แล้วจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกถึง 18,000 ล้านบาท
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็เปลี่ยนการผลิตรถจากรถสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต่อไปจะส่งผลกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนกว่า 30,000 ชิ้น จะเหลือแค่ไม่ถึง 3,000 ชิ้น แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย ดังนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจะอยู่ในโลกใบเก่าไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยวก็ต้องปรับตัวอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการเงิน ก็คงเป็นภาคหนึ่งที่ต้องสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย โดย ธปท.ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มาโดยตลอด อย่างในด้านสังคมก็มีการดำเนินการในเรื่องคลินิกแก้หนี้ ด้านธรรมาภิบาลก็มีการออกเกณฑ์ของสถาบันการเงินให้ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม ล่าสุดก็มีแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนออกมา
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวในงานสัมนา ESG : Game Changer ว่า การทำ ESG ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เห็นได้ชัดทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นความร้อนทะลุ 45 องศาเซลเซียสในฝั่งโลกตะวันตก ฝนตกหนักผิดปกติในฝั่งตะวันออก เป็นต้น อย่างไรก็ตามการทำ ESG นั้นมีความท้าทายหลายด้านทั้งปัจจัยภายในและภายนอก อย่าง การบริหารจัดการทั้งใน-นอกองค์กรการระบาดของโควิด-19 ฯลฯ สะท้อนจากที่ประชาคมโลกพยายามลดเป้าควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยลงตั้งแต่2 องศา เป็น 1.5 องศา จนปัจจุบันอยู่ที่ 1 องศา ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถบรรลุเป้าได้หรือไม่แต่แม้จะท้าทายก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำให้ได้ เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้เหมือนมนุษย์ที่เป็นไข้ อุณหภูมิเพิ่มจาก 37 องศาเซลเซียสเป็น 39 องศาเซลเซียสก็วิกฤติมากแล้ว
สำหรับแนวทางของไทยเบฟนั้น ได้ตั้งเป้าหมายด้าน ESG เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 และคืนน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชนให้ได้ 100% ภายในปี 2583 ขณะที่ 80% ของยอดขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ต้องมากจากเครื่องดื่มสุขภาพภายในปี 2573 รวมถึง 100% ของคู่ค้ากลุ่มกลยุทธ์ต้องจัดทำและบังคับใช้จรรญาบรรณสำหรับคู่ค้าของตนเอง ทั้งนี้เชื่อว่า ESG น่าจะสามารถผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจไปพร้อมกับสร้างโลกที่น่าอยู่ได้แน่นอน
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ เปิดเผยระหว่างงานสัมมนา ESG Game Changer ในหัวข้อ สร้าง “ความยั่งยืน” ให้เป็นจริง ว่าต้องการอยากให้เห็นว่าโออาร์นั้น ได้ทำอะไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางคนมองว่าเป็นผู้ค้าน้ำมัน และช่วงนี้ราคาน้ำมันขึ้นอาจจะไม่ค่อยรัก แต่ในมุมของ ESG ความยั่งยืนที่ปฏิบัติ ซึ่งก็ยังดำเนินการและยังไม่ได้หยุดไปนั้น ได้ส่งเสริมและสร้างการเติบโตให้กับสังคมอย่างมากมาย พร้อมกันนี้ OR ยังให้ความสำคัญกับ 4 พันธกิจ ได้แก่ SEAMLMESS MOBILITY การพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีและเชื่อมโยงที่ให้ไร้รอยต่อโดยต้องการให้เกิดการใกล้ชิด แม้ว่าพลังงานจะไปอยู่ที่ทางไหน ก็จะเชื่อมโยง เชื่อมต่อให้เข้ากับการให้บริการ ALL LIFESTYLES เราไม่ได้ทำธุรกิจขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่เรายังมีธุรกิจใหม่ด้วย และอีก 3 เดือนจะเห็นธุรกิจของเรา คือ เรื่องของความสวยความงามด้านสุขภาพ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจเป้าหมายเพราะสังคมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งมีมากขึ้น เรามองกลุ่มธุรกิจนี้และพร้อมจะให้โอกาสของผู้ค้าของเข้ามาอยู่
ด้าน GLOBAL MARKET เราประสบความสำเร็จในกลุ่มของธุรกิจซึ่งพร้อมที่จะขยายเพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจในต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากกว่า 10 ประเทศ เช่น สปป.ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ และโอมาน เราเข้าไปอยู่ในทุก ๆแห่งโดยธุรกิจเราไม่หยุดที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่เรามองหาโอกาสในต่างประเทศและพร้อมที่จะไขว่คว้า เพราะในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด และผู้กำกับดูแล เราจะแสวงหาโอกาสที่ขยายธุรกิจออกไป
OR INNOVATION เรามีแนวคิดที่แตกต่าง การที่เราจะสร้างความแตกต่าง จากปัจจุบันเรามีสถานีบริการ เราจะพัฒนาไปอยู่ในออนไลน์ และจะเข้าไปในอยู่ออนไลน์ 50% โดยในเดือนสิงหาคมนี้ เราจะเปิด application ชื่อว่าXplore ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชั่นที่เข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่ application ของ OR แต่เป็นองกลุ่มของปตท. ซึ่งเรามีผลิตภัณฑ์มากมาย ธุรกิจ EV ยาที่เรากำลังพัฒนาอยู่ เราทำงานเป็นกลุ่มจะเป็น application ที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท. และแอปฯนี้จะเป็นซูเปอร์แอปฯ ของ ปตท.ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแอปพลิเคชั่นนี้จะมีประโยชน์กับชุมชนและสังคม ซึ่งจะเป็น marketplace รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในเครือข่ายของเรา และเราจะนำขึ้นมาอยู่บนแอปพลิเคชั่น คนก็จะมีโอกาสสามารถขายของบนแอปพลิเคชั่นของเราฟรี
สำหรับชุมชนและสังคมที่ดูแลอยู่สู่ความยั่งยืน SDG เป็นภาพใหญ่ของสหประชาชาติ แต่สิ่งที่เดินหน้า การให้โอกาสคนตัวเล็กเป็นสิ่งที่ทำอยู่ การให้โอกาสทุกรูปแบบเพื่อให้วิสาหกิจชุมชน สังคม เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของ เพราะไม่สามารถทำธุรกิจได้คนเดียวและเมื่อเขาทำธุรกิจร่วมกัน ก็ต้องเข้าไปดูแลและไม่หยุดที่จะคิด และสร้างการเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนี้ SDG และ ESG สร้างความเชื่อมโยงกันและสอดคล้องกันด้วย ทั้งนี้ ความคิดของโออาร์เองยังไม่ได้มองเรื่องของ green เป็นต้นทุน แต่มองเป็นเรื่องของการสนับสนุน เป็นเรื่องเอาพลังงาน หากนำกลับมาใช้ก็คือการบริหารต้นทุน การใส่เงินเข้าไปให้โอกาสการทำธุรกิจให้ความยั่งยืน ไม่เคยคิดว่าเป็นต้นทุน ซึ่งเป็นแนวคิดของการวางกลยุทธ์และโปรแกรมต่าง ๆ มากมายด้วย.-สำนักข่าวไทย