กรุงเทพฯ10 เม.ย.-กฟผ.เตรียมปรับแผน หลัง โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนไม่ถูกบรรจุในแผนไฟฟ้าฉบับใหม่ พีดีพี2023 พัฒนา Namphong Green Energy Model แต่ยังคาดหวังรัฐบาลใหม่จะทบทวน เพื่อเสถียรภาพด้านพลังงาน
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/04/10/1151112/1681107954_668010-tnamcot-1024x768.jpeg)
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า แม้ว่าอยู่ในช่วงเลือกตั้ง แต่แผนพลังงานชาติ และแผนพลังงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าจัดทำต่อเนื่อง โดย เบื้องต้นร่าง แผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี)ฉบับใหม่ (PDP 2023 ปี 2566-80) มีการพิจารณาเรื่องภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปด้านพลังงานและแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ไปสู่ NET ZERO ของประเทศ โดยเบื้องต้นในส่วนของ โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน650 เมกะวัตต์ เดิมอยู่ในแผนปัจจุบันแต่แผนฉบับใหม่ ไม่ได้บรรจุไว้ เนื่องจากปริมาณก๊าซฯในภาคอิสาน มีไม่เพียงพอ หากจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต้องสร้างท่อก๊าซฯเชื่อมต่อมายังโรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ต้องสร้างท่อเชื่อมจาก จ.นครราชสีมามายังโรงไฟฟ้า ต้องลงทุนวางท่อเพิ่มระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งต้องลงทุนสูงและจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าด้วย ดังนั้น การทำงานของโรงไฟฟ้าน้ำพองจึงพิจารณาเพียงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีอายุใช้งานครอบคลุมถึงปริมาณก๊าซฯที่คาดว่าจะมีถึงปี 2574 เท่านั้น
ทั้งนี้ แผนปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 650 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2568 เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทดแทนโรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1 และ 2 ซึ่งหมดอายุการใช้งานและจะถูกปลดออกจากระบบไฟฟ้า โครงการฯ จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ รักษาเสถียรภาพระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/04/10/1151112/1681107996_979783-tnamcot-1024x768.jpeg)
นายอลงกรณ์ พุ่มรักธรรม ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กล่าวว่า กฟผ.ยังคาดหวังรัฐบาลใหม่จะมีการทบทวนร่างแผนพีดีพี2023 เพราะจังหวัดขอนแก่นมีแผนงานเชื่อมต่อการขนส่งกับเพื่อนบ้าน และจะเป็นฮับขนาดใหญ่การขนส่งสินค้า มีแนวโน้มเติบโตอีกมาก โดยหากไม่มี โรงไฟฟ้าน้ำพองก็ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเป็นหลัก และพลังงานทดแทนอื่น ซึ่งจะกระทบต่อความมีเสถียรภาพในด้านรวม ซึ่งก็คาดหวังรัฐบาลจะมีการทบทวนโดยนำปัจจัยเสริมความมั่นคงในพื้นที่มาร่วมพิจารณาด้วย
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กรณีที่ท้ายสุดโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนไม่ถูกบรรจุไว้ในแผนPDP2023 โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางที่จะดำเนินการควบคู่กันไปได้แก่ 1. การลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 1,200 ล้านบาทเพื่อต่ออายุโรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1 และ 2 ออกไปอีกประมาณ 8 ปีเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯที่จะหมดลงในปีพ.ศ. 2574 และ 2. การพัฒนาโครงการน้ำพอง กรีน เอ็นเนอร์ยี โมเดล ( Namphong Green Energy Model ) เพื่อตอบโจทย์การลงทุนอนาคตที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ 1. ศึกษาการใช้ศักยภาพหลุมก๊าซฯในพื้นที่มากักเก็บคาร์บอนหรือเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) 2. ศึกษาการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ในการผลิตเป็น Green Hydrogen 3. ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCU) รูปแบบCarbon Recycle และBiological Conversion 4.การผลิตไฟฟ้าจาก Fuell Cell 30 เมกะวัตต์หลังหมดสัญญาก๊าซปี 2574
นอกจากนี้ กฟผ.ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนต้นแบบ ในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง แก้ไขปัญหาขยะชุมชน โดยกฟผ.ได้ลงทุนตัวรถ พร้อมระบบคัดแยกที่เน้นการใช้ขยะแห้งมูลค่าราว 40 ล้านบาทต่อระบบ ใช้ขยะราว 1 ตันต่อชั่วโมงหากเดินเครื่องทั้งวันก็จะใช้ราว 24 ตันต่อวัน เพื่อผลิตไฟฟ้าแล้วจ่ายกลับให้กับชุมชน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องใช้ขยะแห้งเป็นเชื้อเพลิง จึงจำเป็นต้องรณรงค์ตั้งแต่ชุมชน คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง.–สำนักข่าวไทย