นนทบุรี 17 มี.ค.-อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มั่นใจทางการจีนจะเอาผิดผู้ค้าข้าว 3 รายในจีน ฐานเติมสารแต่งกลิ่นในข้าวเพื่อให้มีรสชาติเหมือนกับข้าวหอมมะลิไทย ระบุกฎหมายจีนเข้มงวดมาก แม้เบื้องต้นไม่พบทั้ง 3 รายปลอมตราเครื่องหมายรับรอง แต่หลังจากนี้จะให้ทูตพาณิชย์ในจีนออกตรวจสอบ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวโรงงานข้าวในจีน ปลอมข้าวหอมมะลิไทยโดยใช้ข้าวที่ปลูกในจีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้าวไทย มาใส่สารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวหอมมะลิไทยนั้น จากการตรวจสอบของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า เกิดขึ้นจริง ตรวจพบใน 3 โรงงาน ซึ่งทางการจีน สั่งปิดกิจการแล้วและ อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฏหมาย
ทั้งนี้ พฤติกรรมการกระทำผิดของทั้ง 3 โรงงาน คล้ายคลึงกัน ใช้ข้าวที่ปลูกในจีน มาใส่สารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวหอมมะลิไทย แตกต่างกันเพียงชื่อแบรนด์ เช่น มีการแอบอ้างแหล่งผลิตจากไทย และเขียนระบุข้อความบนบรรจุภัณฑ์ว่า เป็นข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งมีการรายงานว่าดำเนินการมาหลายปีแล้ว โดยทั้ง 3 โรงงาน ไม่เคยนำเข้าข้าวไทย และมี 1 โรงงาน ไม่มีใบอนุญาตการผลิตด้วยซ้ำ และอีก 1 โรงงาน มียอดขายปีละประมาณ 1 ล้านตัน
อย่างไรก็ตามได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ในจีน ขณะนี้ถูกสั่งปิดโรงงานแล้ว และกำลังถูกดำเนินคดี เนื่องจากเข้าข่ายผิดกฎหมายของจีนในหลายข้อหา ทั้งมาตรฐานอาหารปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค การโฆษณา คุณภาพความปลอดภัยสินค้า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าของจีนเอง และดำเนินคดีทางอาญา รวมไปถึงการย้อนกลับไปตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพของผู้บริโภคที่ซื้อไป โดยย้ำว่า กฎหมายของจีน มีความเข้มงวดมาก มีบทลงโทษและดำเนินการทันที ซึ่งต้องขอบคุณทางการจีน ที่บังคับใช้อย่างเข้มข้น
ส่วนทางการไทย จากการตรวจสอบเบื้องต้นทั้งเครื่องหมายการค้า และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่พบผิดกฎหมาย ต้องติดตามพฤติกรรมความผิดอีกครั้ง และการดำเนินการใดๆ ต้องผ่านทางการทูตเท่านั้น เช่นเดียวกับการประเมินผลกระทบความเสียหาย ที่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อนำสถิติการส่งออกข้าวหอมมะลิมาเปรียบเทียบ อาจจะในช่วง 3-6 เดือนที่เกิดปัญหานี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนว่าปริมาณการส่งออกลดลงมากน้อยแค่ไหน โดยปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีน ในปี 2565 ปริมาณกว่า 142,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 3.68% จากการส่งออกข้างทุกชนิดที่ 7 แสน 5 หมื่นตัน ซึ่งยังเชื่อว่า เป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เพราะผู้บริโภคชาวจีน ตื่นตัวในการตรวจสอบก่อนซื้อ
อย่างไรก็ตาม หลังจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ในจีน มีทั้งหมด 7 แห่ง จะเพิ่มความเข้มงวดในการลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งในห้างและตลาดสดให้มากขึ้น และหากพบผิดปกติ ให้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางการจีน เข้าตรวจสอบทันที รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภค รู้จักเครื่องหมายการค้ารับรองข้าวหอมมะลิไทย หรือที่เรียกกันว่า เครื่องหมายตราเขียว ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่า ได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยแท้ และเป็น เครื่องหมายที่แสดงความเป็นสินค้าที่มีแหล่งกําเนิดในประเทศไทย และมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์ กําหนด เพื่อให้ผู้ซื้อหรือผู้นําเข้าข้าวในจีนสามารถเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพดี ได้อย่างถูกต้องต่อไป.-สำนักข่าวไทย