ทำเนียบฯ 13 มี.ค.-นายกรัฐมนตรี สั่งทีมเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์แบงก์ 2 แห่งในสหรัฐปิดกิจการ ไม่พบแบงก์ไทยเชื่อมโยงเข้าลงทุน ย้ำระบบสถาบันการเงินไทยมั่นคง NPL ทั้งระบบต่ำร้อยละ 2.73
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐ “SVB และ ซิกเนเจอร์ แบงก์” ปิดกิจการ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่า ไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินของไทยมีการลงทุนหรือมีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับธนาคารที่มีปัญหาทั้ง 2 แห่ง พร้อมกับประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐ น่าจะอยู่ในวงที่จำกัด เนื่องจากทั้ง 2 แห่งมีการทำธุรกิจที่มีความเฉพาะ ไม่ได้มีการบริการแบบกว้างขวางเช่นธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และทางการสหรัฐได้เข้าดำเนินการเพื่อดูแลปัญหาอย่างรวดเร็ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านฐานะของสถาบันการเงินไทยทั้งระบบมีความแข็งแกร่ง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการกำกับด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ซึ่งมาตรการการกำกับระบบสถาบันการเงินของไทยมีการปรับปรุงให้ดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รัดกุม มาตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 ทำให้ในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้มีวิกฤตการเงินโลกหลายครั้ง รวมถึงวิกฤตโควิด-19 แต่สถาบันการเงินของไทย ทั้งธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ยังสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ด้วยฐานะที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท. ระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ มีเครื่องชี้ฐานะทางการเงินในระดับสูง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ร้อยละ 19.4 สภาพคล่อง (Liquidity Coverage ratio : LCR) สูงถึงร้อยละ 197.3 มีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.73 ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage ratio) สูงถึงร้อยละ 171.9 การให้สินเชื่อและรับเงินฝากในภาพรวมมีการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวในลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบการดูแลผู้ฝากเงินที่เข้มแข็งด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีจำนวน 1.34 แสนล้านบาท คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อราย ซึ่งกองทุน ณ ปัจจุบันสามารถครอบคลุมผู้ฝากกว่าร้อยละ 98% ซึ่งเป็นผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ.-สำนักข่าวไทย