กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – ธ.กรุงเทพ แนะ 5 แนวทาง ใช้ดิจิทัลแบงก์กิ้งอย่างสบายใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อการโจรกรรมทางไซเบอร์ ยึดหลัก “ช้าแต่ชัวร์” อย่ารีบตัดสินใจ ชี้ช่วงเทศกาลปีใหม่มีปริมาณธุรกรรมสูงกว่าปกติ เพิ่มความระมัดระวังหลังพบพฤติกรรมแฮกเกอร์ เจาะจุดอ่อนพฤติกรรมผู้ใช้มุ่งโจมตีที่ตัวบุคคลมากขึ้น
นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้จัดการจัดการความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ภัยทางไซเบอร์ที่พบค่อนข้างมากช่วงที่ผ่านมา จะพบได้บ่อยใน 5 รูปแบบ ได้แก่ การชักจูงเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลด้วยฟิชชิงอีเมลหรือSMS ที่มักมีลิงก์ให้กรอกข้อมูล, การหลอกล่อให้ทำตามที่ต้องการ เช่น การดาวน์โหลดโปรแกรม, การเข้าถึงเครื่องที่ใช้งานทางช่องโหว่, แอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเร่งรัดบังคับให้ทำตาม และส่งเอกสารที่มีมัลแวร์มากับเมล เช่นกรมสรรพากร เรียกเก็บภาษี หรือ ใบเรียกเก็บค่าปรับจราจร จึงขอแนะนำ 5 แนวทางเพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ทุกการทำธุรกรรมของลูกค้า
1. ต้องมั่นใจว่าอัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชันปัจจุบันอยู่เสมอ
2. ติดตั้งเครื่องมือป้องกันภัยคุกคาม เช่น โปรแกรมป้องกันไวรัส
3. ไม่ติดตั้งซอฟต์แวร์จากลิงค์ที่แนบมากับเมลหรือ SMS
4. ไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล รหัส OTP หรือรหัสผ่านแก่ผู้อื่น
5. เพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมทุกขั้นตอน
ปัจจุบันพบว่าแฮกเกอร์ มุ่งเน้นการโจรกรรมไปยังผู้ใช้งานโดยตรง โดยอาศัยช่องโหว่หรือจุดอ่อนของพฤติกรรมผู้ใช้งาน โดยใช้เทคนิคการโน้มน้าว เช่น การทำรายการในเวลาที่กำหนด , หลอกลวงให้เชื่อและชักจูงให้ไขว้เขว, ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและหว่านล้อมให้หลงเชื่อคำหลอกลวง อาทิ บุตรหลานประสบเหตุ ต้องใช้เงินรักษาพยาบาลโดยด่วน
“สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้งานควรเพิ่มความใส่ใจ คือ การวิเคราะห์และเข้าใจในตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน พฤติกรรมสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ คือ การลดความเร็วในการตัดสินใจ และการกระทำที่เรียกว่า ‘ช้าแต่ชัวร์’ คือ ตรึกตรองและใคร่ครวญวัตถุประสงค์ก่อนทุกครั้ง ทบทวนอีกรอบ จะช่วยให้สามารถพิจารณาได้อย่างละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงเทศกาลต่าง ๆ ที่เป็นช่วงจับจ่ายใช้สอย มีเงินสะพัดและปริมาณธุรกรรมที่สูง ดังนั้น ผู้บริโภคก็ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน” นายกิตติ กล่าว.-สำนักข่าวไทย