กรุงเทพฯ 20 ก.ย.- ศรีสุวรรณ จรรยา” เข้าฟังผลไต่สวนคดีโครงการแอชตัน อโศก ของศาลสูงสุด วันนี้ เผยองค์คณะได้สรุปคำไต่สวนแถลงให้ศาลปกครองสูงสุดรับทราบ ระบุ รฟม. สามารถดำเนินการให้โครงการดังกล่าวใช้ทางเข้า-ออกได้ไม่กระทบกับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ
เช้าวันนี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เข้ารับฟังการแถลงขององค์คณะไต่สวนในคดีหมายเลขดำที่ อส. 67/2564 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน(ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย
โดยนายศรีสุวรรณ เปิดเผยภายหลังเข้าฟังการแถลงขององค์คณะ ที่ดำเนินการไต่สวน และรายงานให้ที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดรับทราบ ระบุว่า องค์คณะได้แถลงระบุว่า การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ในฐานะหน่วยงานรัฐ (ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ) อนุญาตให้โครงการดังกล่าวใช้ทางเข้า-ออก ของโครงการรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความกว้างพื้นที่ ทางเข้า-ออก ของโครงการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น สามารถดำเนินการได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ของรฟม. ในอนาคต
หลังจากฟังผล คำไต่สวนในวันนี้นายศรีสุวรรณยอมรับว่าจะไม่มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมแต่อย่างใด และตามกรอบเวลาเชื่อว่าหลังจากนี้ประมาณหนึ่งเดือนศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมา
ทั้งนี้ ยอมรับว่า คดีดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ โครงการต่างๆอีกมากในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากศาลพิพากษาไปตามที่องค์คณะวินิจฉัยก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่หากศาลปกครองสูงสุด ยืนคำตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตในการก่อสร้าง ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้สมาคมฯ ดำเนินการกับโครงการที่มีการกระทำผิดเข้าข่ายในลักษณะดังกล่าวอีกหลายโครงการ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลขณะนี้ พบว่ามีอีกประมาณ 10 โครงการ ที่มีปัญหาทางผ่านเข้า-ออก และไปใช้ทางเข้าออกร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. โดยเฉพาะโครงการย่านถนนสาทร ที่มีอยู่หลายโครงการ ฯ
สำหรับ คดีของ”แอชตัน อโศก” ซึ่งเป็นโครงการ คอนโดมิเนียมหรู 51 ชั้น เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2557 ราคาเฉลี่ยเริ่มต้นสูงถึง 210,000 บาทต่อตารางเมตร แต่หลังจากเริ่มก่อสร้างได้ไม่นาน ในปี 2559 เริ่มมีการฟ้องร้องและร้องเรียนทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ โดย นายศรีสุวรรณ จรรยานายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและตัวแทนชุมชนรวม 16 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 5 แห่ง เหตุร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ โดยอนุญาตให้มีการก่อสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีประเด็นที่ฟ้องร้องทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหลังจากศาลพิจารณารวมถึงตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ แล้วไม่พบว่าโครงการทำผิด “แอชตัน อโศก” จึงดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จในปี 2560
แต่หลังจากก่อสร้างเสร็จ “ลูกบ้าน” จะโอนกรรมสิทธิ์ แต่กลับติดปัญหาไม่สามารถโอนได้ เนื่องจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับการอนุญาตให้ บริษัท เจ้าของโครงการ ใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยไม่ผ่านอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ทำให้ต้องเลื่อนการโอนออกไปแต่แล้วปัญหานี้ก็จบลง เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้ออกใบรับรองการก่อสร้างให้โครงการ “ลูกบ้าน” จึงเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ในปี 2561 มีลูกบ้านทยอยย้ายเข้าอยู่ไปแล้วกว่า 83% ของโครงการกระทั่งวันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีผลการตัดสินจากศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการฯ และมีการ ดำเนินการอุทธรณ์ ต่อศาลปกครองสูงสุด ที่อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีก 1 เดือนหลังจากนี้ .-สำนักข่าวไทย