ออสเตรเลียทดลองใช้ยาต้านลิ่มเลือดแข็งตัวพ่นจมูกกันโควิด

เมลเบิร์น 22 ธ.ค.- คณะนักวิจัยในออสเตรเลียทดลองนำเฮปาริน ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด มาพัฒนาเป็นสเปรย์พ่นจมูกเพื่อป้องกันการติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ดอน แคมป์เบลล์ ผู้อำนวยการแผนกอายุกรรมของนอร์ทเทิร์นเฮลท์ในนครเมลเบิร์น ร่วมกับคณะนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น มหาวิทยาลัยโมนาช และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พัฒนาเฮปารินให้เป็นยาพ่นที่จะเคลือบจมูกแต่ไม่ลงไปในปอด เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก มีราคาถูก คาดว่าจะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอไมครอน เพราะยาจะขัดขวางไม่ให้โปรตีนของไวรัสเข้าไปจับเซลล์ ไม่ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใดก็ตาม รัฐบาลรัฐวิกตอเรียได้ให้งบประมาณสนับสนุนคณะนักวิจัยทำการทดลองทางคลินิกเป็นเวลา 6 เดือนกับครัวเรือน 340 ครัวเรือน โดยจะฉีดยาพ่นเฮปารินหรือยาพ่นหลอกภายใน 24 ชั่วโมงหลังใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือหลังทราบผลตรวจว่าติดเชื้อ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ การใช้ยาพ่นเฮปารินทำได้ง่าย ๆ ด้วยการพ่นจมูกข้างละ 2 ครั้ง วันละ 3 เวลา นอกจากนี้เฮปารินยังเป็นยาที่ทั่วโลกใช้มากเป็นอันดับ 2 และสามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องได้นานกว่า 3 เดือน จึงสามารถใช้ได้ในวงกว้าง.-สำนักข่าวไทย

จีนพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์สมบูรณ์สุดในประวัติศาสตร์

ปักกิ่ง 22 ธ.ค. – นักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์แบบสมบูรณ์ที่ใกล้ฟักออกจากไข่คล้ายกับไก่ โดยคาดว่าการค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างไดโนเสาร์กับสัตว์ปีกในยุคปัจจุบันมากขึ้น บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จีนได้ค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่อยู่ในไข่ในเมืองก้านโจวของมณฑลเจียงซี ทางตะวันออกของจีน โดยคาดว่าตัวอ่อนไดโนเสาร์เป็นเทโรพอดไร้ฟัน (toothless therapod dinosaur) หรือไดโนเสาร์สายพันธุ์โอวิแรปโทโรซอร์ (oviraptorosaur) ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 66 ล้านปีและได้รับการตั้งชื่อว่า เบบี้ยิงเหลียง (Baby Yingliang) เบบี้ยิงเหลียงมีลำตัวยาว 27 เซนติเมตรวัดจากหัวถึงหางและอยู่ในไข่ขนาด 6.7 นิ้ว ที่ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติยิงเหลียงสโตนในจีน ส่วนไดโนเสาร์สายพันธุ์โอวิแรปโทโรซอร์ ซึ่งมีความหมายว่า สัตว์เลื้อยคลานจอมขโมยไข่ (egg thief lizards) เป็นไดโนเสาร์มีขน ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในปัจจุบัน และมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนปลาย หรือประมาณ 66-100 ล้านปีก่อน ดร. ฟิออน ไวซัม หม่า นักวิจัยชาวฮ่องกง กล่าวว่า เบบี้ยิงเหลียงเป็นฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ การค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างไดโนเสาร์กับสัตว์ปีกในยุคปัจจุบัน ฟอสซิลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตัวอ่อนไดโนเสาร์กำลังอยู่ในท่างอแขนขาเข้าหากึ่งกลางลำตัว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คล้ายกับตัวอ่อนของสัตว์ปีกยุคปัจจุบันในช่วงที่ใกล้ฟักออกจากไข่ ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมของสัตว์ปีกยุคปัจจุบันอาจพัฒนาและเกิดขึ้นครั้งแรกในบรรพบุรุษที่เป็นไดโนเสาร์. -สำนักข่าวไทย

ออสเตรเลียคิดค้นวิธีตรวจภูมิต้านโควิดรู้ผลใน 20 นาที

ซิดนีย์ 22 ธ.ค. – นักวิจัยออสเตรเลียได้คิดค้นการตรวจวัดระดับสารภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีความแม่นยำสูงและรู้ผลภายในเวลา 20 นาทีด้วยการใช้เข็มเจาะเลือดจากนิ้วมือเท่านั้น ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอีไบโอเมดิซีน (EBioMedicine) ในวันนี้ระบุว่า นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวิธีตรวจวัดระดับสารภูมิต้านทานเชื้อโควิดด้วยการใช้เครื่องตรวจวิเคราะห์อย่างง่ายทดสอบ ณ จุดดูแลผู้ป่วย หรือที่เรียกว่า พีโอซี (point-of-care test) คณะนักวิทยาศาสตร์สถาบันเบอร์เน็ตและสถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตีเพื่อการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันของออสเตรเลีย ผู้คิดค้นวิธีนี้ระบุว่า แม้การตรวจแบบพีโอซีส่วนใหญ่จะสามารถวัดระดับภูมิคุ้มกันเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมโดยรวมและนำมาคำนวณหาค่าสารภูมิต้านทานชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อโควิด (neutralizing antibodies) แต่วิธีของพวกเขาเป็นวิธีเดียวที่สามารถวัดการทำงานของสารภูมิต้านทานดังกล่าวที่สอดคล้องกับการมีภูมิต้านทานโรคโควิด-19 และยังสามารถนำไปปรับใช้เพื่อตรวจดูว่าบุคคลที่เข้ารับการตรวจมีภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อโควิดแบบเจาะจงสายพันธุ์ เช่น เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือไม่ ผศ. เดวิด แอนเดอร์สัน รองผู้อำนวยการสถาบันเบอร์เน็ต กล่าวว่า การตรวจแบบพีโอซีอาจมีประโยชน์ในการพิสูจน์อย่างรวดเร็วว่าบุคคลใดที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพราะมีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถรู้ผลได้จากการใช้เข็มเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ซึ่งสะดวกต่อการนำไปใช้ในที่บริเวณจุดดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์คาดว่า วิธีตรวจดังกล่าวจะเป็นทางเลือกใหม่ในการคัดกรองและตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันเพื่อใช้เป็นข้อบ่งชี้ในการฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะในประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์วิกฤตด้านเวลาและในชุมชนที่ยากจนหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยากต่อการเข้าถึงวิธีตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ.-สำนักข่าวไทย

ปานามาร่นระยะห่างวัคซีนเข็ม 3 หลังพบโอไมครอนรายแรก

ปานามาซิตี 22 ธ.ค.- ปานามาจะร่นระยะห่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันลงครึ่งหนึ่งจาก 6 เดือนเป็น 3 เดือน หลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนคนแรกของประเทศ ประธานาธิบดีเลาเรนติโน กอร์ติโซ ทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะมีขึ้นหลังจากฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว 3 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 6 เดือน เนื่องจากวัคซีนช่วยป้องกันการเสียชีวิต เขาจึงอนุมัติให้ศูนย์ฉีดวัคซีนทั่วประเทศลดระยะห่างการฉีดเข็ม 3 ลงเหลือ 3 เดือนให้แก่ประชากรวัย 16 ปีขึ้นไป โดยจะเป็นการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ ไม่ว่าเข็มก่อนหน้านี้จะเป็นไฟเซอร์หรือแอสตราเซนเนกาก็ตาม ข้อมูลของรัฐบาลปานามาระบุว่า ประชากร 4 ล้าน 2 แสนคน รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 ล้านโดส ประชากรเป้าหมายร้อยละ 90 ได้ฉีดเข็มแรกแล้ว และร้อยละ 80 ได้ฉีดครบ 2 เข็ม ขณะที่มียอดติดเชื้อสะสมมากกว่า […]

“ไบเดน” แจกชุดตรวจโควิด 500 ล้านชุดฟรีสกัดโอไมครอน

วอชิงตัน 22 ธ.ค. – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลได้สั่งซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง (rapid antigen test) จำนวน 500 ล้านชุด เพื่อนำมาแจกให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ประธานาธิบดีไบเดนประกาศเมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเอง 500 ล้านชุดเพื่อแจกให้ประชาชนฟรี และจะเพิ่มการสนับสนุนด้านทหารและการตรวจหาเชื้อโควิดในโรงพยาบาลทั่วประเทศ แต่ระบุว่า การระบาดในสหรัฐยังไม่ถึงขั้นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ สถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับในเดือนมีนาคมปีก่อน และทางการได้เตรียมแผนรับมือจากบทเรียนที่ได้จากการระบาดครั้งก่อนแล้ว นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังเตือนประชาชนให้ระมัดระวังตนเองและเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สามแล้ว แม้ว่าทรัมป์ถูกผู้ฟังปราศรัยโห่ใส่ที่เมืองดัลลัสในรัฐเทกซัสหลังจากที่เขาประกาศเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มสาม บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกำลังแพร่ระบาดในหลายเมืองของสหรัฐ เช่น นครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน สหรัฐพบยอดผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวสูงเกือบร้อยละ 75 จากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ และพบผู้เสียชีวิต 1 รายที่มีความเชื่อมโยงกับเชื้อดังกล่าวและยังไม่ฉีดวัคซีนโควิดในรัฐเทกซัส ขณะนี้ สหรัฐมียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 52 ล้านคน และผู้เสียชีวิตกว่า 830,000 คน. -สำนักข่าวไทย

อิสราเอลประกาศให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปฉีดเข็ม 4

เยรูซาเล็ม 22 ม.ค.- นายกรัฐมนตรีนาฟตาลี เบนเน็ตต์ของอิสราเอลประกาศให้ชาวอิสราเอลวัย 60 ปี ขึ้นไปและบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข็มที่ 4 ตามที่คณะผู้เชี่ยวชาญแนะนำ นายกรัฐมนตรีเบนเน็ตต์ทวีตผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่นว่า ได้สั่งการให้เตรียมการฉีดเข็ม 4 โดยทันที ก่อนหน้านี้เขากล่าวถึงการที่คณะผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดของประเทศแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 4 แก่ชาวอิสราเอลวัย 60 ปีขึ้นไปและบุคลากรทางการแพทย์ว่า เป็นข่าวที่ดีเยี่ยม เพราะจะช่วยให้อิสราเอลฝ่าฟันระลอกคลื่นการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่กำลังถาโถมทั้งโลก ต่อมาสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเปิดเผยถ้อยแถลงของเขาว่า พลเมืองอิสราเอลได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็นกลุ่มแรกของโลก และจะเดินหน้าบุกเบิกเรื่องการฉีดเข็ม 4 ด้วยเช่นกัน ด้านกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลแถลงเพิ่มเติมว่า ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเข้าเกณฑ์รับวัคซีนเข็ม 4 เช่นกัน การฉีดเข็ม 4 จะต้องห่างจากเข็ม 3 อย่างน้อย 4 เดือน ชาวอิสราเอล 9 ล้าน 3 แสนคนฉีดวัคซีนเข็ม 3 แล้วมากกว่า 4 ล้าน 1 แสนคน ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีอิสราเอลได้ประกาศจำกัดการนั่งรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้า และให้เด็กในชุมชนที่มียอดเสียชีวิตสูงและอัตราฉีดวัคซีนต่ำ […]

ฟิลิปปินส์เร่งส่งความช่วยเหลือให้เหยื่อไต้ฝุ่นราอี

โลบอก 21 ธ.ค.- กองทัพฟิลิปปินส์เร่งลำเลียงอาหารและน้ำไปยังเกาะต่าง ๆ ที่ถูกไต้ฝุ่นราอีพัดกระหน่ำอย่างหนัก ขณะที่องค์กรการกุศลร้องขอความช่วยเหลือเพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเพราะไต้ฝุ่นที่กระหน่ำฟิลิปปินส์กำลังแรงที่สุดในปีนี้ พล.ต.เดลฟิน โลเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหมแถลงเมื่อวันจันทร์ว่า ได้สั่งการให้กองทัพใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ ทั้งเรือ เครื่องบิน และรถบรรทุก ลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังพื้นที่ประสบภัย นอกจากนี้ยังได้ส่งเครื่องจักรหนักไปรื้อซากที่กีดขวางถนนด้วย ไต้ฝุ่นราอีขึ้นฝั่งตอนกลางและตอนใต้ของฟิลิปปินส์ด้วยความเร็วลม 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อวันพฤหัสบดี ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 375 คนแล้ว และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ขณะที่บ้านเรือนเสียหาย การสื่อสารและไฟฟ้าถูกตัดขาดในวงกว้าง ผู้ประสบภัยมากกว่า 400,000 คน อาศัยตามศูนย์พักพิงหรือบ้านญาติ จังหวัดโบโฮลซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมีผู้เสียชีวิต 94 คน และต้องประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติ ด้านสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศในฟิลิปปินส์ได้ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางเครื่องบินไปยังเกาะโบโฮลและเกาะซีอาร์เกา พร้อมกับขอความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เร่งด่วนมูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 740 ล้านบาท) ล่าสุดอังกฤษรับปากจัดสรรให้แล้ว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33 ล้านบาท).-สำนักข่าวไทย

ธุรกิจเกาหลีใต้ถูกกระทบหลังทางการใช้เคอร์ฟิวอีกครั้ง

โซล 21 ธ.ค.- ธุรกิจในเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบ เมื่อมาตรการเคอร์ฟิวที่กำหนดให้ร้านค้าต้องปิดหลังเวลา 21:00 น.มีผลบังคับใช้อีกครั้ง ตามนโยบายเข้มงวดเพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีผู้ติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพิ่มขึ้น เจ้าของร้านปิ้งย่างเผยว่า ได้จ้างพนักงานเพิ่มหลังจากทางการผ่อนคลายมาตรการเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน ตามนโยบายมีชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด และได้เตรียมวัตถุดิบจำนวนมากเพราะคาดว่าจะมีลูกค้าแน่นช่วงสิ้นปี แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนเงินเยียวยาที่รัฐบาลจะจ่ายให้ร้านขนาดเล็กรายละ 1 ล้านวอน (ราว 28,265 บาท) นั้น ไม่พอที่จะจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานพาร์ตไทม์ 1 คนเสียด้วยซ้ำ สมาคมธุรกิจขนาดเล็กและสมาคมเจ้าของร้านอาหารในเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้มาตรการเคอร์ฟิวหลายครั้ง และเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาการขาดทุน บางสมาคมประกาศจะชุมนุมประท้วงในสัปดาห์นี้ สัปดาห์ที่แล้วทางการเกาหลีใต้ประกาศใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมชุดใหญ่ไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม ด้วยการห้ามรวมกลุ่มเกิน 4 คน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาร์ต้องปิดหลังเวลา 21:00 น. ลูกค้าร้านปิ้งย่างเผยขณะรีบสวมแจ็กเก็ตและหน้ากากอนามัยเพราะใกล้เวลาเคอร์ฟิวว่า เสียใจที่มีมาตรการนี้ในช่วงใกล้สิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงวลาที่จะได้พบปะสังสรรค์กับญาติมิตรอย่างเต็มที่ ขณะที่ลูกค้าบางคนมองว่า หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล จะเกิดความเสียหายในวงกว้างมากกว่านี้.-สำนักข่าวไทย

สิงคโปร์พบคลัสเตอร์โอไมครอนระบาดในโรงยิม

สิงคโปร์ 21 ธ.ค. – กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์เผยเมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ว่า ผลตรวจหาเชื้อโควิดในเบื้องต้นพบผู้ป่วยที่คาดว่าติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 2 คนที่มีความเชื่อมโยงกับโรงยิม และกำลังรอผลตรวจหาเชื้อดังกล่าวในผู้ป่วยอีก 1 คนที่เชื่อมโยงกับโรงยิมเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า ทางการกำลังติดตามผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดทั้งสามคน ซึ่งมีอาการป่วยไม่รุนแรง ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดส แต่ไม่ได้ระบุว่าผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือไม่ ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ทางการคาดว่าจะพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในชุมชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื้อดังกล่าวแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว ขณะนี้ สิงคโปร์มียอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 71 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 65 คน และผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 6 คน ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของทางการสิงคโปร์ระบุว่า มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดครบสองโดสร้อยละ 87 และฉีดวัคซีนเข็มที่สามร้อยละ 34 จากประชากรทั้งหมด 5.5 ล้านคน สิงคโปร์พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 195 คนเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากสถิติสูงสุด 5,324 คนในช่วงปลายเดือนตุลาคม ขณะนี้ สิงคโปร์มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมกว่า 276,000 คน และผู้เสียชีวิต 815 คน. […]

ออสเตรเลียไม่ล็อกดาวน์แม้มีคนติดโอไมครอนเพิ่มขึ้น

ซิดนีย์ 21 ธ.ค.- นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันของออสเตรเลียยืนยันวันนี้ว่า ออสเตรเลียจะต้องก้าวข้ามการให้รัฐบาลใช้นโยบายแทรกแซงอย่างหนัก และยุติการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่จะปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้มีชีวิตร่วมกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ออสเตรเลียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เดินหน้าทำสถิติใหม่ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,600 คนในวันนี้ สูงกว่าสถิติเดิม 4,100 คนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ แต่นายกรัฐมนตรีมอร์ริสันยืนยันกับสื่อว่า การจำกัดการแพร่ระบาดอยู่ที่ความรับผิดชอบส่วนบุคคล รัฐบาลต้องมองว่า ประชาชนโตแล้ว ต้องเลิกใช้มาตรการแทรกแซงอย่างหนัก และเลิกบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างทางสังคม รัฐบาลจะไม่กลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ และจะเดินหน้านโยบายการมีชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสนี้อย่างมีสามัญสำนึกและความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังได้ขอให้รัฐต่าง ๆ เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนอีกครั้งเพื่อฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลังจากประชาชนวัย 16 ปี ขึ้นไปฉีดวัคซีนครบโดสแล้วร้อยละ 80 ด้านนายเกร็ก ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณสุขเผยว่า แม้ผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้น แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และถึงแม้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับช่วงที่สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาด.-สำนักข่าวไทย

อนามัยโลกเตือนเลิกจัดงานคริสต์มาส-ปีใหม่สกัดโอไมครอน

เจนีวา 21 ธ.ค. – องค์การอนามัยโลกเตือนให้ยกเลิกจัดงานสังสรรค์หรือการเดินทางในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทั่วโลก ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ผู้คนทั่วโลกรู้สึกเบื่อหน่ายกับการระบาดของเชื้อโควิด ทุกคนต้องการใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว รวมถึงการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติดังเดิม แนวทางที่รวดเร็วที่สุดในตอนนี้เพื่อให้ทุกคนไปถึงจุดหมายนั้นก็คือ ผู้นำประเทศต้องตัดสินใจยกเลิกการจัดงานช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนประชาชนต้องยกเลิกแผนการเดินทางในช่วงดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องชีวิตของทุกคน เขามองว่า การประกาศยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานในตอนนี้ยังดีกว่าต้องมานั่งเสียใจเรื่องยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในภายหลัง ดร. ทีโดรส ยังระบุว่า การระบาดของโรคโควิดอาจยุติลงภายในปีหน้า เนื่องจากจะมีประชากรร้อยละ 70 ของทุกประเทศทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบโดสในช่วงกลางปีหน้า นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิดมากขึ้น องค์การอนามัยโลกจำเป็นต้องเดินหน้าสืบสวนเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะรู้ที่มาของโรคโควิดเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการป้องกันโรคภัยอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน โซเมีย สวามินาตัน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การด่วนสรุปจากหลักฐานเบื้องต้นว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก พร้อมทั้งเตือนว่า ยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ระบบสาธารณสุขทั่วโลกเผชิญกับภาวะตึงตัวอีกครั้ง. -สำนักข่าวไทย

1 145 146 147 148 149 315