กรุงเทพฯ 24 พ.ค.-กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกินในโค-กระบือแล้ว และจะจัดสรรวัคซีนเพื่อควบคุมโรคเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งแก้ไขปัญหาการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ดังนั้นวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) จะเดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อจัดกิจกรรมปล่อยขบวนสัตวแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยพ่นยาทำลายเชื้อโรค แจกและพ่นสารเคมีกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ แจกยารักษาแผลภายนอก ยาบำรุง แร่ธาตุ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจโรคและการป้องกันให้เกษตรกรพร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินมาตรการควบคุม ป้องกัน และจำกัดโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อคลายความวิตกกังวลของเกษตรกร โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามแต่งตั้งการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกินแล้ว
สำหรับวัคซีนควบคุมโรคซึ่งนำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ลอตแรกจะถึงในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคมนี้ 60,000 โด๊ส ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคจะจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่ต่างๆ โดยแผนปฏิบัติการฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกิน แบ่งเป็น 2 โซน คือ 1.พื้นที่เกิดโรค (Infected Zone) 50 กิโลเมตร โดยฉีดวัคซีนในอำเภอที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากพื้นที่เกิดโรค และมีมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายโค กระบือที่ฉีดวัคซีนออกจากคอกเลี้ยงเป็นระยะเวลา 30 วัน และ 2.พื้นที่เฝ้าระวังโรค (Surveillance Zone) 100 กิโลเมตร ไม่ฉีดวัคซีน สามารถเคลื่อนย้ายภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น การดำเนินการฉีดวัคซีนต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งต้องมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ที่ฉีดวัคซีนทุกตัว และต้องปฏิบัติควบคู่กับมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้าย และกำจัดแมลงพาหะของโรคจึงจะทำให้ลดกระแพร่ระบาดได้
ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์โรคลัมปีสกิน พบรายงานการเกิดโรคลัมปี สกินใน 35 จังหวัด เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 2,172 ราย โค-กระบือป่วยสะสมเกือบ 7,000 ตัว และตายสะสม 53 ตัว คิดเป็นอัตราป่วยเฉลี่ยร้อยละ 27 อัตราตายเฉลี่ยร้อยละ 0.19
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะเกิดเฉพาะในโค-กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน รักษาหายได้ และสามารถบริโภคได้ โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนัง และเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย ขอให้เกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 06-3225-6888 หรือทางแอพพลิเคชั่น DLD4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยขณะนี้โรคดังกล่าวแพร่ระบาด ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้. – สำนักข่าวไทย