กรุงเทพฯ 30 ก.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย ด่านกักกันสัตว์สงขลาร่วมกับกองร้อยทหารราบที่ 5021 สกัดรถลักลอบนำเข้าเนื้อควายและตีนไก่แช่แข็งหนักรวมเกือบ 3 ตัน ผ่านทางพรมแดนประเทศมาเลเซีย เข้ามาทางอ. สะเดา จ. สงขลา นำตัวผู้กระทำผิดส่งดำเนินคดีที่สภ. สะเดา เตรียมทำลายของกลางที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์มาทำลายตามระเบียบ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากหัวหน้าด่านกักกันสัตว์สงขลาซึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารของกองร้อยทหารราบที่ 5021 ตั้งจุดตรวจสกัดการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย ผ่านทางพรมแดนประเทศมาเลเซีย บริเวณหน้าวัดหัวถนน ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พบผู้กระทำความผิด ขับขี่รถยนต์ต้องสงสัยดัดแปลงเป็นตู้เหล็กทึบ ทะเบียนรถระบุจังหวัดสงขลา ภายในตู้เหล็กตรวจพบสินค้าปศุสัตว์ ดังนี้
1) เนื้อกระบือแช่แข็งบรรจุลัง (คละยี่ห้อ) มีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย จำนวน 47 ลัง น้ำหนักรวม 1,032 กิโลกรัม
2) ตีนไก่แช่แข็ง จำนวน 92 กระสอบ น้ำหนักรวม 1,840 กิโลกรัม
เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้พนักงานขับรถนำเอกสารการขออนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ แต่ไม่สามารถนำมาแสดงได้ ถือเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 31 และ มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงได้ยึดอายัดของกลางทั้งหมด แล้วนำตัวผู้กระทำผิดส่งพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาให้ดำเนินคดี
สำหรับของกลางทั้งหมดนั้น เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์สงขลาอยู่ระหว่างประสานงานพนักงานสอบสวนเพื่อนำมาทำลายตามระเบียบกรมปศุสัตว์ต่อไป
นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวว่า การดำเนินการจับกุมการลักลอบนำเข้าและเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์โดยผิดกฎหมาย เป็นนโยบายสำคัญของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปกป้องเกษตรกร ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์ รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากสินค้าปศุสัตว์ที่ได้ลักลอบไม่ได้รับอนุญาต จะไม่ได้รับการตรวจสอบเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนเช่น โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า (salmonellosis) โรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร โรคไข้หวัดนก หรือมีสารตกค้างเช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ โดยผิดกฎหมายทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย