กรุงเทพฯ 25 ก.ค.- รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เผย ปริมาณน้ำนมทั่วประเทศขณะนี้ลดลงจากค่าเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 400 ตัน/วัน สาเหตุจากเป็นช่วงพักรีดนม ก่อนแม่วัวคลอดตามวงรอบปกติของการเลี้ยง นอกจากนี้มีเกษตรกรส่วนหนึ่งหยุดเลี้ยงจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูง กรมปศุสัตว์ได้เร่งขยายผลส่งเสริมการใช้อาหารสัตว์ที่ช่วยลดต้นทุนคาดว่าปริมาณน้ำนมดิบจะกลับมาทยอยเพิ่มมากขึ้นอย่างเพียงพอต่อความต้องการ ตามรอบการผลิตน้ำนมของแม่โคนม
นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะมิสเตอร์โคนมของกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำนมดิบทั่วประเทศลดลงกว่าค่าเฉลี่ย โดยค่าเฉลี่ยน้ำนมดิบตลอดปี 2565 ประมาณ 3,500 ตัน/วัน ในปี 2566 ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยของเดือน พ.ค.66 ประมาณ 2,900 ตัน/วัน จึงลดลงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค. ปีที่ผ่านมา 400 ตัน/วันหรือคิดเป็น 12% (เดือนพ.ค. 65 ค่าเฉลี่ย 3,300 ตัน/วัน)
สำหรับสาเหตุที่ปรับปริมาณน้ำนมดิบมี 2 สาเหตุคือ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปี เป็นห้วงที่แม่โคส่วนใหญ่ใกล้คลอด เกษตรกรจึงพักรีด ซึ่งปริมาณน้ำนมจะลดลงเป็นปกติตามฤดูกาลแล้วจะเริ่มกลับมาสูงขึ้นในเดือนตุลาคมเป็นต้นไปนอกจากนี้เกษตรกรบางรายหยุดเลี้ยงหรือลดจำนวนแม่โคตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด ต่อมามีปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำนมสูงขึ้น
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายเล็กและรายย่อยในการลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์เนื่องจากค่าอาหารคิดเป็น 60-70% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด จากการซื้ออาหารข้นสำเร็จรูป มาเป็นหญ้าอาหารหยาบ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความพร้อมปลูกหญ้าอาหารหยาบ กำหนดไว้ 50,000 ไร่ทั่วประเทศ โดยกรมปศุสัตว์สนับสนุนเมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์หญ้า ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกแล้ว 27,000 ไร่ แต่ต้นปีที่ผ่านมากระทบภัยแล้ง ขณะนี้กำลังเร่งขยายผลให้ครบตามโครงการ อีกโครงการหนึ่งคือ โครงการส่งเสริมการใช้อาหาร Dry TMR ซึ่งเป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยกรมปศุสัตว์ทดลองใน 10 จังหวัดทุกภาค พบว่า ลดต้นทุนได้ 3 บาท/กิโลกรัมน้ำนม หรือคิดเป็น 10% ขณะนี้กำลังขยายผลไปสู่เกษตรกรให้มากขึ้นเนื่องจากการลดต้นทุนการผลิตจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงโคนมได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากแหล่งผลิตโดยตรงและจัดหาวัตถุดิบเพื่อทดแทนที่เหมาะสมไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำนมดิบ รวมทั้งการให้เงินชดเชยค่าอาหารสัตว์แก่เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย