ญี่ปุ่น 27 มี.ค.- อธิบดีปศุสัตว์ไทย พบอธิบดีปศุสัตว์ญี่ปุ่น กระชับความสัมพันธ์ด้านวิชาการ โดยเฉพาะข้อมูลด้านการควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ รวมถึงสร้างความมั่นใจและผลักดันการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ระหว่างกัน
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นำคณะเข้าร่วมหารือกับอธิบดีปศุสัตว์ (CVO) ญี่ปุ่น ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) ประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นของไทย ในด้านการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ โดยเมื่อปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งหมด ปริมาณ 524,246 ตัน มูลค่า 74,278 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่มสินค้าปศุสัตว์แช่เยือกแข็ง( frozen) ปริมาณ 481,558 ตัน มูลค่า 70,964 ล้านบาท กลุ่ม non frozen ปริมาณ 2,457 ตัน มูลค่า 404 ล้านบาท กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง (pet food) ปริมาณ 40,231 ตัน มูลค่า 2,910 ล้านบาท
สำหรับการเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เข้าเยี่ยมคารวะ Dr. Norio Kumagai, Chief Veterinar Officer, Counsellor (Deputy Director-General, Food Safety and Consumer Affairs Bureau, Export and International Affairs Bureau) Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF) เนื่องในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ และทำความรู้จักกับผู้บริหารของ MAFF ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 ณ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ และ MAFF ได้ร่วมกันหารือด้านความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เช่น การพิจารณาร่างหนังสือรับรองสุขอนามัยเพื่อการส่งออก (HC) ไข่ไก่ไปยังประเทศญี่ปุ่น การขอรับรองเขตพื้นที่ปลอดโรคไข้หวัดนก (HPAI Regionalization) ของประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์ได้ขอให้ MAFF พิจารณาข้อมูลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ MAFF แจ้งว่า อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในเชิงวิชาการ และจะเร่งจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ จากนั้นจะแจ้งกำหนดการให้กรมปศุสัตว์ทราบต่อไป
ในส่วนของโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานของเจ้าหน้าที่ ระหว่าง MAFF และกรมปศุสัตว์ ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ และ MAFF ได้เห็นชอบร่วมกันให้มีโครงการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ระหว่าง MAFF กับกรมปศุสัตว์ ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวจะมีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และการดูงานด้านการปศุสัตว์ระหว่างกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทําให้การดําเนินโครงการดังกล่าวไม่มีความต่อเนื่อง ผลจากการหารือร่วมกัน ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นควรให้มีการดําเนินการโครงการดังกล่าว เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารและปฏิบัติงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและการประสานงานในอนาคต
นอกจากนี้ ยังได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านมาตรการและแนวทางการควบคุม ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกของประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นให้การยอมรับในมาตรการที่มีประสิทธิภาพของไทย ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เรียนเชิญผู้บริหารและนักวิชาการของ MAFF เดินทางไปเยี่ยมกรมปศุสัตว์ไทยในโอกาสต่อไปอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย