เพชรบุรี 3 พ.ย.- ที่ปรึกษารมว. ทส. แนะกรมปศุสัตว์ให้สนใจแก้ปัญหาสุนัขจรจัด ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ครบทุกตัว ขอบคุณที่สนใจปัญหาลิงเพชรบุรี แต่ลิงเป็นสัตว์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่แก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอนดีอยู่แล้ว
นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้กรมปศุสัตว์จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาลิงแสมในพื้นที่เพชรบุรี โดยระบุว่า “ลิง” เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ดังนั้นจึงอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับแนวคิดของกรมปศุสัตว์ที่จะย้ายฝูงลิงในเมืองให้ไปอาศัยที่ใหม่แทน โดยสำรวจพื้นที่เกาะในเขื่อนแก่งกระจานนั้น เห็นว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและขาดความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์ เนื่องจากฝูงลิงในเมืองเพชรบุรีอยู่ร่วมกับมนุษย์มานาน จนขาดสัญชาตญาณสัตว์ป่า เกินกว่าจะกลับไปอยู่รอดในป่าได้แล้ว ต่อให้รอดชีวิตก็ไม่พ้นจะพากันย้ายถิ่นฐานไปอยู่กับชุมชนที่ใกล้เคียงที่สุด ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่อื่นอีกทอดหนึ่ง ที่แย่กว่าคือ คนที่นั่นอาจไม่มีประสบการณ์รับมือกับฝูงลิงมาก่อนเลย
ตั้งแต่ปี 2562-2565 ได้ทำหมันและตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังโรคลิงแล้ว 25,000 ตัว จากทั้งหมด 50,000 ตัวทั่วประเทศ เป็นลิงในจังหวัดเพชรบุรี 3,502 ตัว อยู่ในฝูงเขาวัง 563 ตัว ในปีงบประมาณ 2566 ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อทำหมันเพิ่มอีก 1,600 ตัว
นายยุทธพลกล่าวว่า ขอขอบคุณกรมปศุสัตว์ที่ห่วงใยและใส่ใจในปัญหาลิงแสม พร้อมย้ำว่า ลิงแสมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยตรง ทำงานแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้วางใจว่า ผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบมานานหลายปีเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุดต่อทั้งคนและลิง โดยไม่ได้เพิ่งมาเคลื่อนไหวช่วงใกล้เลือกตั้ง อีกทั้งแนวทางแก้ปัญหานั้น ไม่ใช่คิดออกวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ทำเลย หัวใจสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ควบคู่กันไปอย่างสมดุลและมีมนุษยธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งต้องอาศัยเวลาและการลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงการโยนไอเดียแนวคิดที่ไม่ผ่านการศึกษาและไม่สามารถทำจริงได้ มาให้สังคมสับสน เป็นเพียงการดึงลิงมาเล่นการเมือง
ทั้งนี้ทราบว่า กรมปศุสัตว์มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบล้นมืออยู่แล้วด้วยเช่น ปัญหาสุนัขจรจัด อยากให้กรมปศุสัตว์และผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบไปโฟกัสเรื่องนั้นเพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ขอให้ฉีดให้ครบทุกตัว ทั่วถึงเพราะเป็นงานของในหน้าที่โดยตรง
ก่อนหน้านี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้กรมปศุสัตว์แก้ไขปัญหาประชากรลิงแสมเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในชุมชนเมืองของหลายจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงและโรคอื่นๆ ที่ลิงเป็นพาหะสู่คน โดยระบุว่า เป็นนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมปศุสัตว์จัดทำโครงการและแผนงานตามข้อสั่งการเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่พระนครคีรีเป็นโครงการนำร่อง ทั้งนี้มีแนวคิดจะสำรวจพื้นที่สำหรับจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาลิงแสมที่อำเภอแก่งกระจาน โดยเน้นดำเนินการตามแนวทางสวัสดิภาพคนและสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) ตามมาตรฐานสากล
นายอลงกรณ์ระบุด้วยว่า ได้นำทีมเพชรบุรีโมเดลลงพื้นที่สำรวจปัญหาลิงแสมที่พระนครคีรีและสอบถามปัญหากับผู้ประกอบการร้านค้าและชุมชนรอบบริเวณเขาวัง รวมทั้งเจ้าอาวาสวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร (วัดเขาวัง) พบว่า ลิงแสมอาศัยอยู่ได้เพิ่มจํานวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า มากถึง 2,000-3,000 ตัว โดยลงมาหาอาหารยังพื้นที่ด้านล่างและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการรอบบริเวณพระนครคีรี (เขาวัง) รวมทั้งนักทองเที่ยวส่งผลกระทบต่อการค้าการท่องเที่ยวจนซบเซานานนับสิบปี แม้จะมีความพยายามดำเนินการทำหมันลิง แต่ไม่บรรลุเป้าหมายตรงข้ามกลับมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
ข้อห่วงใยที่สำคัญคือ ลิงแสมเป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง โรคบาดทะยัก โรควัณโรค เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้าพ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์พ.ศ.2558 หากประชาชนพ่อค้าแม่ค้าและนักท่องเที่ยวทั้งเด็กและผู้ใหญถูกลิงแสมกัดอาจเป็นอันตรายถึงแก่เสียชีวิตได้
พร้อมกันนี้แสดงความเชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาลิงแสมอย่างยั่งยืนด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมในลักษณะการบูรณาการร่วมกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ลิงเป็นพาหะสู่คนและยังช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ธุรกิจการค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบพระนครคีรี (เขาวัง) รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูให้อุทยาน ประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สําคัญของจังหวัดเพชรบุรีอีกครั้งหนึ่ง หากสำเร็จเพชรบุรีโมเดลจะเป็นต้นแบบตัวอย่างในการขยายผลไปยังพื้นที่เขาหลวง เขาตะเครา เขาย้อย จังหวัดอื่นๆ ต่อไป.-สำนักข่าวไทย