26 พ.ย. – การเงินทางวัฒนธรรมเสริมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพใหม่ของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า
วันที่ 20-22 พฤศจิกายน การประชุมการลงทุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมแห่งเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) ประจำปี ค.ศ. 2024 จัดขึ้นที่นครกว่างโจว โดยมีผู้เข้าร่วมจากสถาบันการเงิน สมาคมอุตสาหกรรม องค์กรลงทุนและบริษัทชั้นนำกว่า 100 แห่ง บริษัทจดทะเบียนกว่า 40 แห่ง รวมถึงสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ เช่น ยูนิคอร์น กาเซล และบริษัทนวัตกรรมเทคโนโลยีวัฒนธรรมมากกว่า 100 แห่ง
หัวข้อของการประชุมครั้งนี้คือ “การเงินทางวัฒนธรรมขับเคลื่อนเขต GBA เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน” โดยมีการเปิดตัวโครงการลงทุนด้านวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลในวงกว้าง เผยแพร่ผลงานวิจัยคุณภาพสูงที่มีความทันสมัยและความเชี่ยวชาญ รวมทั้งจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีวัฒนธรรมล้ำสมัยที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนด้วย เช่น โครงการ “หลั่วฝานเฉิน” (Luofancheng) มนุษย์ดิจิทัลพิพิธภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ “Humanoid Robot+” ซึ่งได้ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เมืองสำคัญในเขต GBA ต่างมีทรัพยากรครบถ้วนและหลากหลาย เช่น กว่างโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง และมาเก๊า บริษัทหลายแห่งได้มุ่งเน้นในด้าน AIGC (Artificial Intelligence Generated Content) การผลิตดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ การผลิตทางวัฒนธรรมแบบอัจฉริยะ และการบริโภคทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศอุตสาหกรรมวัฒนธรรมดิจิทัลที่เต็มด้วยชีวิตชีวากำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ในที่ประชุมได้มีการเปิดตัว “รายงานการลงทุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมประจำปี ค.ศ. 2024” และ “รายงานแนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าประจำปี ค.ศ. 2024” ซึ่งระบุแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ที่ลงลึกสำหรับการพัฒนาการลงทุนของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในเขต GBA จากมุมมองการลงทุนที่แตกต่างกัน จุดที่น่าสนใจในการลงทุน และแนวโน้มการลงทุน รายงานระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การระดมทุนของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในเขต GBA มีมูลค่ารวมประมาณ 5.282 หมื่นล้านหยวน มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในมณฑลกวางตุ้งครองอันดับที่หนึ่งของประเทศต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปี ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 10% ในปี ค.ศ. 2023 รายได้จากอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในมณฑลกวางตุ้งอยู่ที่ 2.2483 ล้านล้านหยวน ซึ่งสูงสุดในประเทศ และมีบริษัทด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10,800 แห่ง หรือประมาณ 1 ใน 7 ของประเทศ โดยเฉพาะเมืองเซินเจิ้นที่มีรายได้จากบริษัทในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเกิน 1 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 8.5% ของประเทศ โดยรายได้จากภาคการผลิตวัฒนธรรมคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรากฐานการผลิตที่แข็งแกร่งของมณฑลกวางตุ้ง
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตในกวางตุ้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมด้วย โดย 4 ใน 5 ของอุปกรณ์เกมและเครื่องเล่นทั่วประเทศผลิตในกวางตุ้ง ผลิตภัณฑ์เกมของกว่างโจวครองส่วนแบ่งตลาดโลก 20% และ 1 ใน 4 ของสินค้าลิขสิทธิ์แอนิเมชันมาจากเมืองตงกวน ในด้านอุตสาหกรรมย่อยต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ในกวางตุ้งต่างมีความได้เปรียบอย่างชัดเจน โดยรายได้จากอุตสาหกรรมเกมคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของประเทศ ขณะที่มูลค่าของเพลงดิจิทัล สิ่งพิมพ์ดิจิทัล และแอนิเมชัน คิดเป็น 1/4 1/5 และ 1/3 ของประเทศตามลำดับ. -116 สำนักข่าวไทย