4 ก.ค. – สหกรณ์ฯ คอนสาร รุกธุรกิจบริการ เตรียมเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งใหม่ต่อยอดจากของเดิม จำหน่ายผลผลิตครบวงจร
เคยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เกือบหลับแต่กลับมาได้ สำหรับสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด หมู่ 3 ต ตำบล ดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมสมาชิกในพื้นที่ 4 อำเภอใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ที่ตั้งสำนักงาน) อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ อ.ภูผาม่าน และ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น จนกลายเป็นสหกรณ์แถวหน้าคว้ารางวัลระดับประเทศมาแล้วมากมาย ทั้งรางวัลการประกวดผลงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2561 หรือล่าสุดคว้ารางวัลดีเด่นระดับ 5 ในโครงการเลิศรัฐ ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2566 จากผลงาน “สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร” ส่งเข้าประกวดโดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ
“ตอนนี้มันดีขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้อัตคัดขัดสนไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเกษตรกรชำระหนี้ไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ” อัมพร เดชพรม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด เผยถึงสถานภาพทางการเงินสหกรณ์ฯ ช่วงวิกฤติที่ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ก่อนที่จะแก้ปัญหาด้วยการกู้เงิน ธ.ก.ส. จำนวน 15 ล้านบาท เมื่อปี 2538 มาเสริมสภาพคล่องและจัดซื้ออุปกรณ์การตลาดได้แก่ โรงสี ไซโล โกดังลานตาก เพื่อเก็บผลผลิตของสมาชิก ที่ส่วนใหญ่ปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ซึ่งช่วงนั้นราคาผลผลิตเกือบทุกตัวค่อนช้างดี ทำให้สมาชิกมาชำระหนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งชำระเงินกู้ธ.ก.ส.จนหมดในอีก 3 ปีต่อมา จากนั้นจึงขายไซโลและโรงสีทิ้งไป เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดูแล เก็บไว้เฉพาะโกดังและลานตาก
“พอชำระหนี้ ธ.ก.ส.หมด เราก็ขายไซโลกับโรงสีออกไปเลย เพราะผลผลิตไม่มี แต่ต้องดูแลมีค่าใช้จ่ายเลยขายดีกว่าเอาเงินมาทำอย่างอื่น ตอนนั้นขายได้เงินมาแค่ล้านเดียว เหลือแต่โกดังและลานตากไว้เก็บผลผลิตสมาชิก”ผู้จัดการสหกรณ์ฯคอนสารเผย จากนั้นจึงได้ทำการขอกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อนำมาให้สมาชิกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นทุนในการประกอบอาชีพผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ส่วนใหญ่จะทำการกู้ปีต่อปีหรือตามวงรอบผลผลิต ส่วนระยะยาวนั้นมักจะกู้เพื่อจัดซื้อที่ดินทำกิน เครื่องจักรขนาดใหญ่และปลูกสร้างที่อยู่อาศัย เป็นหลัก
“เราส่งเสริมเกือบทุกอาชีพพีชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ มีวัว หมู ไก่พื้นเมือง ไก่ไข เป็ด มีเงินให้กู้ตามอายุสัตว์อายุพืช อัตราดอกเบี้ยนมีให้เลือกหลากหลาย บางโครงการต่ำร้อยละบาท บางโครงการก็ไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลากู้ 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ถ้ากู้ระยะยาวก็ร้อยละ7 เราเป็นลูกหนี้ที่ดีของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เราใช้สินเชื่อทุกอย่างที่กรมฯมี ถ้าเงินไม่พอก็ใช้เงินของสหกรณ์เองใส่เข้าไป” อัมพร ระบุ
ส่วนการตลาด เธอย้ำว่าไม่มีปัญหา สหกรณ์จะเป็นผู้ดูแลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้กับผู้ประกอบการ พ่อค้าทั้งในและนอกพื้นที่ ตลอดจนโรงงานแปรรูปอ้อย โดยจะมีการซื้อ-ขายในราคาที่เป็นธรรม ส่วนหนึ่งก็จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเอง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว ภายใต้แบรนด์”รุ้งงาม” โดยข้าวหอมมะลิ 105 สนนในราคาจำหน่ายถุงละ 170 บาทต่อ 5 กิโลกรัม ส่วนข้าวเหนียว 160 บาทต่อ 5 กิโลกรัม
“เรื่องการตลาด สหกรณ์จะดูแลทั้งหมด อ้อยเราดิวกับทางโรงงานโดยตรง เรามีสัญญาลูกไร่แต่ละโรงงาน ส่วนข้าวเราก็นำมาแปรรูปเอง มีโลโก้สหกรณ์การเกษตรคอนสารตรารุ้งงาม ความหมายมาจากแสงปะทะท้องทุ่งนาสวยงามเป็นสายรุ้งกลางทุ่งนา”
จากความสำเร็จในธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจรวบรวมผลผลิต และก้าวมาสู่ธุรกิจบริการ ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์ มีทั้งปั๊มน้ำมันและซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นของตัวเองไว้สำหรับให้บริการสมาชิกกว่า 2,000 ราย ปัจจุบันสหกรณ์ฯ คอนสาร มีสินทรัพย์กว่า 600 ล้านบาท มีเงินฝากสมาชิก 300 ล้านบาท และมีสัดส่วนเงินกู้ที่ใกล้เคียงกัน
“อย่างสหกรณ์ฯ ชุมแพ ไม่มีธุรกิจบริการ ลูกค้าเขาเอาแต่สินเชื่ออย่างเดียว ส่วนภูผาม่านกับน้ำหนาวไม่มีสหกรณ์ในพื้นที่ เกษตรกรจึงมาเป็นสมาชิกสหกรณ์เรา เพราะเขามีความเชื่อมั่นใจในสหกรณ์เรา ถึงแม้ระยะทางจะไกลหน่อยก็ยอม”
ผู้จัดการสหกรณ์ฯ คอนสาร ย้ำว่า ปัจจุบันสหกรณ์มารุกธุรกิจบริการมากขึ้น ขณะนี้ได้สร้างอาคารซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ต่อยอดมาจากของเดิม โดยมีพื้นที่ใช้สอยมากยิ่งขึ้นเพื่อนำผลผลิตการเกษตรของสมาชิกและสินค้าแปรรูปของสหกรณ์วางจำหน่าย โดยใช้เงินของสหกรณ์ในการก่อสร้างอาคารและได้ทำการขอกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.)จำนวน 5 ล้านบาท ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการจัดหาซื้อสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการ กพส.
“ปัจจุบันเรามีเงินฝากสมาชิกประมาณ 300 ล้าน กู้กับฝากมีสัดส่วนเท่า ๆ กัน เพราะเราบังคับสมาชิกทุกคนต้องฝาก เงินกู้กรมฯ 5 ล้านตอนนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องขอกู้เพื่อเอามาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในซูเปอร์มาเก็ตยังไม่ได้รับอนุมัติ รออยู่ค่ะ ส่วนอาคารหลังใหม่เพิ่งทดลองเปิดใช้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รอท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์มาเป็นประธานเปิดอย่างเป็นทางการ” อัมพร เดชพรม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด กล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ที่บริหารงานภายใต้ธีม “สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร” ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรสมาชิกโดยรวม และเป็นแบบอย่างให้กับสหกรณ์การเกษตรอื่นได้เป็นอย่างดี.