กทม. 4 เม.ย. – พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายนที่จะถึงนี้ สำนักข่าวไทย อสมท ย้อนลำดับธรรมเนียมโบราณราชประเพณีในอดีตแห่งพระราชพิธีสำคัญนี้
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญบังคับใช้มาแล้ว 19 ฉบับ ซึ่งไม่ต้องประกอบพระราชพิธีทุกครั้ง แล้วแต่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตามธรรมเนียมปฏิบัติมี 2 รูปแบบในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ คือ จัดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ใน 3 รัชกาลที่ผ่านมา มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 3-4 ครั้ง ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกมีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 8 มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2489 ส่วนในรัชกาลที่ 9 มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511
ส่วนในรัชกาลที่ 10 นี้ กำลังจะมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในวันที่ 6 เมษายน 2560
สำหรับขั้นตอนของพระราชพิธีในวันที่ 6 เมษายน ทุกอย่างดำเนินไปตามโบราณราชประเพณี แต่ข้อแตกต่างอยู่ตรงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ประทับอยู่บนพระแท่นราชบัลลังก์ เนื่องจากยังไม่ผ่านการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นที่มาของกฎหมายอื่นๆ เป็นการวางโครงสร้างประเทศวางกติกา จึงมีความหมายและความสำคัญ เหมือนเข็มทิศที่จะบอกทางเดินของประเทศในอนาคต จึงต้องกำหนดขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ สำหรับการพระราชทานรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ต่อไป. – สำนักข่าวไทย