กรุงเทพฯ 25 ก.ค.- กรมวิชาการเกษตรเปิดตัวอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ “กวก. สุพรรณบุรี 1” หลังนักวิจัยใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ 17 ปี หวังเป็นทางเลือกใหม่หลังเกษตรกรใช้พันธุ์ดั้งเดิมนานกว่า 20 ปี ส่อเกิดปัญหาพันธุ์เสื่อม สะสมโรคและแมลง โดยพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงทั้งน้ำอ้อยและผลผลิตอ้อย สีน้ำอ้อยเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม และรสชาติหวานถูกใจผู้บริโภค
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า คณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรได้รับรองอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ชื่อ “กวก. สุพรรณบุรี 1” มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,622 ลิตรต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 26 ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 11.43 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 21 สีน้ำอ้อยมีสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม รสชาติหวาน มีความหวาน 21.54 องศาบริกซ์ เจริญเติบโตเร็ว ลำแตกน้อย
สำหรับอ้อย “กวก. สุพรรณบุรี 1” เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่ดำเนินงานวิจัยในระหว่างปี 2547-2564 รวมระยะเวลา 17 ปี ตั้งแต่กระบวนการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และประเมินผลผลิตขั้นต่าง ๆ เพื่อศึกษาข้อมูลด้านผลผลิตและคุณภาพน้ำอ้อยในแปลงทดลองหน่วยงานเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรและในไร่เกษตรกร ที่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย จนถึงการประเมินความพึงพอใจและการยอมรับจากเกษตรกรผู้ผลิต จำหน่าย และบริโภค จนประสบผลสำเร็จ
ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำประมาณ 120,000 ไร่กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ โดยนิยมนำอ้อยคั้นนำมาบริโภคเป็นน้ำอ้อยสดและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น น้ำเชื่อมอ้อย น้ำตาลอ้อยก้อน และน้ำตาลอ้อยผง ซึ่งมีการนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยพันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่เกษตรกรนิยมปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมได้รับการรับรองพันธุ์ในปี 2539 ปลูกกันมายาวนานมากกว่า 20 ปี ซึ่งการที่เกษตรกรใช้อ้อยพันธุ์เดิมปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์ มีการสะสมโรคและแมลง อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่จึงเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมพร้อมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวเพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนเป็นการเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำอ้อยสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำอ้อย สามารถดำเนินอาชีพได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง
จากพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำทั่วประเทศประมาณ 120,000 ไร่ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 336 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 16,800 ล้านบาท (ราคา 50 บาทต่อลิตร) อ้อยคั้นน้ำ กวก. สุพรรณบุรี 1 ให้ผลผลิตน้ำอ้อย 3,622 ลิตรต่อไร่ จะทำให้ได้ผลผลิตน้ำอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 434.64 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 21,732 ล้านบาท ส่วนด้านผลผลิตอ้อยจากที่ให้ผลผลิตอ้อย 1,080,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,860 ล้านบาท (ราคา 4,500 บาทต่อตัน) อ้อยคั้นน้ำ กวก. สุพรรณบุรี 1 ให้ผลผลิตอ้อย 11.43 ตันต่อไร่ จะได้ผลผลิตอ้อย 1,371,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,172.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 035-528255 .- สำนักข่าวไทย