สธ. 22 ก.ค. – อธิบดีกรมวิทย์ฯ แจงผลตรวจคุณภาพผงวัคซีนฝีดาษคนของ อภ.จำนวน 5 แสนโดส พบคุณภาพดี มีความแรง แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนเก่า หากมีการใช้ต้องพิจารณาก่อน พร้อมแจงตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร ย้ำไม่จำเป็นต้องขยายศูนย์ตรวจ เพราะไม่ติดง่ายเหมือนโควิด ต้องนัวเนียและเพศสัมพันธ์เท่านั้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงผลการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนฝีดาษคน (smallpox) ขององค์การเภสัชกรรม ที่เก็บไว้ตั้งปี 2522-2523 จำนวน 13 รุ่น ว่า จากการตรวจสอบผงวัคซีนฝีดาษ ที่นำมารวม 10,000 หลอด โดยจำนวน 1 หลอดบรรจุได้ถึง 50 โดส ดังนั้น มีรวม 500,000 โดส ทุกรุ่นการผลิต ในเชิงกายภาพ ดูสีของผงฝีดาษ มีความแห้ง และการละลายน้ำด้วยตาเปล่า, ตรวจทางเคมีฟิสิกส์ ดูความเป็นกรดด่าง, ตรวจดูความปลอดภัย ดูการปนเปื้อน, ตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ ด้วยวิธี RT-PCR , ตรวจความเป็นเอกลักษณ์ และตรวจดูความแรงของเชื้อก็พบว่า ทุกอย่างเป็นตามมาตรฐานสามารถนำมาใช้ได้หากจำเป็น โดยมีความแรงอยู่ที่ 6.42-6.86 logTCID/ml ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยกำหนดที่ 5.4 logTCID/ml ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นก็สามารถนำมาใช้เป็นวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรได้ แต่เนื่องจากเก็บมาอย่างดีเป็นเวลา 40 ปี การใช้ไม่เหมาะกับคนที่มีภูมิต่ำ แต่ต้องสะกิดให้เกิดฝีหนอง จนให้เกิดการตกสะเก็ด ดังนั้นหากจะมีการใช้ก็ต้องผ่านการพิจารณาเนื่องจากถือเป็นวัคซีนเก่า
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคซีนฝีดาษคน (smallpox) มี 3 รูปแบบหลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ 1. วัคซีนรุ่น 2 ผลิตในสหรัฐอเมริกา พบอาการข้างเคียงน้อยรายแต่รุนแรง เนื่องจากเป็นเชื้อที่เพิ่มจำนวนได้ในเซลล์ของมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถใช้กับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยข้อบ่งใช้ ใช้เข็มจุ่มวัคซีนแล้วเขี่ยบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล จากนั้นจะเกิดตุ่มภายใน 3-4 วัน และมีหนองตกสะเก็ดใน 3 สัปดาห์ เกิดเป็นรอยแผลเป็น 2. รุ่น 3 ผลิตในสหรัฐอเมริกา เป็นเชื้ออ่อนฤทธิ์ พบอาการมีข้างเคียงเล็กน้อย สามารถให้กับประชาชนได้มากกว่า ใช้ 2 โดส ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้รับอนุญาตในการป้องกันฝีดาษวานร (monkeypox) โดยองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2019 หากมีความจำเป็นต้องใช้กันก็อาจจะเป็นรุ่นนี้ 3. รุ่น 4 ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เป็นวัคซีนเชื้อเป็น เกิดจากการตัดต่อยีนสามารถใช้ป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ใช้ 1 โดส โดยเข็มจุ่มวัคซีนแล้วเขี่ยบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล แต่ยังไม่มีการขออนุญาตในการป้องกันฝีดาษวานร
นพ.ศุภกิจ ยังได้กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร ว่า การตรวจขณะนี้เป็นการเก็บตัวอย่างและส่งมาจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยตรง ซึ่งเก็บตัวอย่างทั้งที่ลำคอและฝีหนอง ใช้เวลาการเพาะเชื้อไม่กี่ ชม.ก็ทราบ แต่ต้องมีการตรวจยืนยันร่วมกับแล็บของคณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์ด้วย ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องขยายศูนย์วิทย์ฯ ให้ตรวจหาเชื้อฝีดาษวานร เนื่องจากพบการติดเชื้อน้อยกว่าโควิด-19 ที่แพร่เร็ว เพราะเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ แต่สำหรับฝีดาษวานร เป็นการติดเชื้อสัมผัสฝีหนอง และต้องเป็นลักษณะแบบนัวเนียกันมาก ๆ หรือการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นไม่ได้ติดกันง่าย ๆ. -สำนักข่าวไทย