รัฐสภา 20 ก.ค.- “ศักดิ์สยาม” แจงยิบ 4 ประเด็นซักฟอก ยันไม่เคยแทรกแซงการทำงานของคมนาคม รับพ่อเคยเช่าที่เขากระโดง แต่คนละแปลงกับที่สมาชิกอภิปราย ส่วนกรณีไม่แจงขายหุ้น เพราะดำเนินการก่อนรับตำแหน่ง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงประเด็นที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ตนสรุปได้ว่ามีการอภิปรายใน 4 ประเด็น โดยประเด็นแรก เกี่ยวข้องกับที่ดินของการรถไฟที่เขากระโดง ประเด็นที่ 2 คือ ประเด็น การขายหุ้นของ หจก. บุรีเจริญ ว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ประเด็นที่ 3 คือประเด็นที่มีการกล่าวหาว่ามีการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ไปที่จังหวัดบุรีรัมย์มากผิดปกติ และประเด็นสุดท้าย คือประเด็นของการวางแผน MR map ว่าเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน
นายศักดิ์สยาม ชี้แจงในประเด็นที่ดินเขากระโดงว่า ประเด็นดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายหลายครั้งแล้ว ซึ่งปัญหาที่ดินเขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน มีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนในบริเวณนั้น ตั้งแต่ปี 2502 และอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์ของกรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยต้องมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง และขอยืนยันว่า ตนไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม และสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมายมาโดยตลอด และยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ว่าตนเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพราะทุกอย่างต้องอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
“ข้อกล่าวหาว่าแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานในสังกัด การรถไฟ ยืนยันว่า ได้สั่งการให้การทำงานของการรถไฟยึดหลักการดำเนินการตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด และจะต้องมีการดำเนินการในสิ่งที่กำกับดูแลอย่างชัดเจน จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยในหนังสือสั่งการในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามให้สั่งการให้การรถไฟ แก้ไขปัญหาทางที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง โดยให้มีการติดตามความก้าวหน้า และดำเนินการตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด โดยให้ปฏิบัติด้วยการเท่าเทียมเสมอภาคและโปร่งใส ซึ่งมีการลงนามในเอกสารที่ปรากฏ” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่หน่วยงานการรถไฟเป็นหน่วยงานของรัฐ การที่จะให้รถไฟไปฟ้องร้องกับประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ ออกโดยชอบ โดยหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน แต่สิ่งที่การรถไฟจะต้องดำเนินการตามมาตรฐาน คือจะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงคือการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งขณะนี้การรถไฟเชื่อว่า การออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินมีความคลาดเคลื่อน จึงขอให้กรมที่ดินพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับซ้อนในที่ดินของการรถไฟ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีคำร้องไปยังศาลปกครอง เพื่อให้มีกระบวนการในการวินิจฉัยในเรื่องนี้
ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่า เหตุใดการรถไฟจึงต้องฟ้องแย่งศาลปกครองนั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า “ทางการรถไฟได้รายงานว่า เพราะศาลปกครองกลางสามารถมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินทั้งแปลงตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ได้ และจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและรัดกุม ซึ่งจะทำให้ไม่มีที่ดินส่วนใดส่วนหนึ่งตกหล่น รวมทั้งระยะเวลาในการพิจารณาจนเสร็จสิ้นกระบวนการมีเพียง 2 ศาล คือ ชั้นศาลปกครองกลางและชั้นศาลปกครองสูง ซึ่งเรื่องนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้สิทธิ์ทางศาล ยื่นฟ้องกรมที่ดินในฐานะนายทะเบียนต่อศาลปกครอง ขณะนี้ได้มีคำวินิจฉัยรับคำร้องไว้พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการการพิจารณาของศาล จะต้องรอคำวินิจฉัยว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร” หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ให้ปฏิบัติไปตามนั้น
นายศักดิ์สยาม กล่าว่า สำหรับเรื่องการพิสูจน์สิทธิ ในการยื่นต่อศาลปกครองกลาง มีเรื่องที่เป็นประเด็นที่มีสมาชิกอภิปราย พาดพิงถึงบุคคลที่ตนเคารพที่สุดในชีวิต คือพ่อของตนคือ นายชัย ชิดชอบ ซึ่งวันนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว ว่าจริง ๆ แล้วพ่อของตนเคยเช่าที่ดิน ซึ่งที่ดินที่พ่อดำเนินการ เป็นที่ดินของการรถไฟจริง แต่เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ติดกัน แปลงที่สมาชิกได้หยิบยกขึ้นมานั้นเป็นแปลงที่เป็นที่ดินของการรถไฟ พ่อของตนก็ได้ไปขอทำสัญญาอาศัยที่ดินดังกล่าว มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา โดยมีการทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2516 ส่วนที่ดินแปลงที่ดิน หมายเลข 3466 มีเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 55.8 ตารางวา โดยมีการยื่นออกเอกสารสิทธิ์จากกรมที่ดิน มีการรับรองแนวเขตจากผู้ที่มีสิทธิ์ข้างเคียง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟไปรับรองแนวเขตให้ด้วย
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวว่า ส่วนประเด็นการขายหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ น่าสงสัยว่าเป็นการซื้อขายปลอม ไม่มีหลักฐานว่ามีการซื้อขายจริง แต่เป็นในลักษณะนิติกรรมอำพราง เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประโยชน์ในกานวันที่ 16 มกราคม 2561 โดยได้มีการโอนเงินเสร็จเรียบร้อยมีหลักฐานยืนยันจากธนาคารธนชาตสาขาบุรีรัมย์ มีการโอนเงิน 3 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 2 เดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 35 ล้านบาท จากธนาคารธนชาต สาขาบางบัวทอง ครั้งที่ 2 วันที่ 5 เดือนกันยายนปี 2560 จำนวนเงิน 35 ล้านบาทจากธนาคารธนชาตสาขาบางบัวทอง และครั้งสุดท้ายโอนเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 จำนวนเงิน 49,500,000 บาท จากธนาคารธนชาตสาขาบางบัวทอง โดยมีนายศุภวัฒน์เป็นผู้โอน รวมจำนวนเงิน 119,119,500,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการดำเนินการซื้อขายจริง และมีการจด เปลี่ยนหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 28 มีนาคมปี 2561 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญอีกเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผู้ถือหุ้นหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญไปดำเนินธุรกิจธุรกรรมอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ซึ่งตนเขาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง หากมีข้อสงสัยอะไรคงต้องไปสอบถามจากทาง หจก. บุรีเจริญ
ขณะที่ประเด็นข้อซักถามว่า ทำไมการจดการขายซื้อหุ้นครั้งนี้จึงไม่มีการยื่นหลักฐานไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย ขอยืนยันว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า กรณีที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียวเพียง มีการเพิ่มการลงทุนหรือจดใหม่ ส่วนที่มีการโอนหุ้นและซื้อขายถูกต้องไม่จำเป็นต้องยื่น
“ยืนยันว่า มีหลักฐานทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะต้องเรียนว่าตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ ส่วนเงินที่ได้จากการซื้อขายหุ้นก็เป็นเรื่องส่วนตัวของตนจะนำไปใช้อะไร ตนคิดว่าคงไม่ต้องรายงานต่อสมาชิก” นายศักดิ์สยาม กล่าว
ส่วนเหตุใดจึงไม่มีการรายงานเป็นบัญชีทรัพย์สินต่อไปนั้น นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นระหว่างที่ตนยังไม่เข้าสู่ตำแหน่ง ตนเข้าสู่ตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมปี 2562 และตามกฎหมาย จะต้องมีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่มีในขณะนั้นภายใน 30 วัน โดยมีการแจ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการที่แจ้งในเอกสารดังปรากฏและประกาศเป็นการเปิดเผยจากทาง ป.ป.ช. สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนไม่ได้อยู่ในข้อบังคับที่จะต้องมาชี้แจง
ส่วนการตั้งประเด็นว่า งานของกระทรวงคมนาคมโครงการต่าง ๆ มีการประมูลงานที่เป็นลักษณะของการฮั้วประมูล นายศักดิ์สยาม ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริงและเป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่ตอนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายกับข้าราชการของกระทรวงคมนาคมในการปฏิบัติงานอยู่ 4 ข้อ คือ ต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายต้องถูกต้องตามมติครม ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะฉะนั้น ข้อกล่าวหาที่มีการฮั้วประมูลงานของกระทรวงคมนาคมเป็นไปไม่ได้
ส่วนข้อกล่าวหาที่มีการจัดงบประมาณของกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวง ไปยังจังหวัดบุรีรัมย์มากผิดปกตินั้น นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า ในสิ่งที่ดำเนินการในการจัดทำงบประมาณ พิจารณาในเรื่องขอตั้งงบประมาณที่มีการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในเรื่องกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึงปี 2566 โดยปี 2566 ไม่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะพบว่าการของบประมาณของกระทรวงคมนาคมเราขอไปมาก แต่จะได้รับการจัดสรรเพียงไม่เกิน 1 ใน 3 ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีทั้งเรื่องของการจัดตั้งงบประมาณที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นงบผูกพัน การจัดตั้งงบประมาณขนาดเล็กหรืองานปีเดียว โดยการพิจารณาจัดสรรงบประมาณกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะเป็นผู้เสนอโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการและมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งมีการตรวจสอบและศึกษามาอย่างดีมายังกระทรวง โดยกระทรวงจะมีคณะทำงานดูเรื่องนี้ ก่อนที่เรื่องจะมาถึงตนและตนจะพิจารณาสอบถามว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นหรือไม่ ก่อนที่จะลงนำเสนอไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณา ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการไม่มีเรื่องที่จะสามารถไปสั่งได้
ส่วนที่บอกว่างบประมาณเป็นกระจุกตัวที่จังหวัดบุรีรัมย์นั้น นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า 10 ปีที่ผ่านมาจังหวัดบุรีรัมย์ มีงบของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ดำเนินการในพื้นที่หากเปรียบเทียบย้อนหลัง จะเห็นได้ว่าจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดใหญ่ๆอย่างนครราชสีมา นครปฐม จังหวัดอื่น ๆ ได้รับงบประมาณจัดสรรมากกว่าจังหวัดบุรีรัมย์.-สำนักข่าวไทย