กรุงเทพ 6 ก.ค. – ไทยกับอิสราเอลจัดพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ นับเป็นบันทึกความเข้าใจด้านไซเบอร์ฉบับแรกของไทยกับต่างประเทศ
วันนี้ (พุธ 6 กรกฎาคม) นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กับ พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษา ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้ลงนามร่วมกันในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วย “ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างรัฐอิสราเอลและราชอาณาจักรไทย”
“โลกเราทุกวันนี้ก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการทำสงคราม ดังนั้นความมั่นคงทางไซเบอร์จึงมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนและทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญของความร่วมมือนี้ คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแบ่งปันวิธีการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ระหว่างประเทศคู่ภาคี” นางซากิฟกล่าว
ส่วนพลเอก ดร.ปรัชญา กล่าวว่า “เมื่อโลกมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
การลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่าง เป็นทางการของความร่วมมือในการพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างรัฐอิสราเอลและราชอาณาจักรไทย เพื่อประโยชน์ร่วมกันของ 2 ประเทศ
โดยทั้ง 2 ประเทศต่างตระหนักดีว่า ความมั่นคงปลอดภัย และสภาวะที่เอื้อให้การทำงานด้านดิจิทัล และอินเตอร์เน็ต เป็นไปอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนานวัตกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
สำนักงานไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล (Israel National Cyber Directorate) จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติของไทย โดยถือเป็นบันทึกความเข้าใจด้านไซเบอร์ฉบับแรกที่ประเทศไทยลงนามกับต่างประเทศ
ตาม MOU ฉบับนี้ ไทยและอิสราเอลจะมีความร่วมมือกันหลายด้าน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับนโยบาย และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล การส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ การเปิดโอกาสให้ตัวแทนของประเทศคู่ภาคีศึกษาดูงานและสัมมนา ในวันนี้บริษัท Cyberbit ของอิสราเอล ยังได้สาธิตระบบ Cyber Range ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ได้เรียนรู้วิธีตรวจสอบ และหาแนวทางรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ในสถานการณ์เสมือนจริง. -สำนักข่าวไทย