ทำเนียบฯ 31 มี.ค. – รมว.พลังงานเดินหน้าเปิดประมูลสัมปทาน ไม่รอผลศึกษาคณะกรรมการตามข้อสังเกตท้าย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อไม่ให้ประเทศเสียประโยชน์
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 แล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการประกาศใช้ ซึ่งคงจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสัมปทานที่หมดอายุ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เพราะสัมปทานจะหมดอายุปี 2565 และ 2566 ทั้ง 2 แห่ง คือ แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช โดยปกติต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า 5 ปี เนื่องจากต้องมีการสำรวจและขุดเจาะ กระทรวงพลังงานได้เตรียมการไว้แล้วคาดว่ากฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับ และประกาศ 1 ฉบับจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีปลายเดือนมิถุนายน 2560 และประกาศที่จะให้มีการประมูลสัมปทานที่หมดอายุปี 2565-2566 เดือนกรกฎาคม 2560 คาดว่าจะประมูลเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ได้ประกาศไว้
“แผนเดิมประกาศไว้เดือนมิถุนายน 2560 และเลื่อนมาเป็นเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม หากมีปัญหาของความล่าช้าก็จะไม่เกินปี 2560 สำหรับการประมูลนั้น ระบบไหนก็ได้ ซึ่งระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC และระบบรับจ้างผลิต ขั้นต้นน่าจะมีสัมปทานกับ PSC มาใช้ แนวโน้มหากสามารถใช้ระบบที่ประมูลได้ง่ายก็จะใช้ระบบนั้น ตอนนี้อนุกรรมการกำหนดระบบกำลังพิจารณาอยู่จะรอฟังว่ามีเหตุผลอย่างไร และพยายามที่จะให้เป็นระบบที่สามารถชี้แจงกับประชาชนได้” พล.อ.อนันตพร กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าต้องดำเนินการไปก่อน ไม่ต้องรอบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมไม่ได้บอกให้รอ เพราะเมื่อสัมปทานหมดอายุ หากรอจะทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น จึงต้องทำควบคู่กัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงานศึกษามานานแล้ว ดังนั้น เมื่อมีการประมูลและหากเกิดประมูลได้ระบบ PSC จะมีการปรับรูปแบบของการกำกับดูแลในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และหน่วยงานของกระทรวงพลังงานที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน
“จะปรับปรุงงานที่มีอยู่แล้วให้มีการดูแลระบบ PSC ให้ได้ มีความพร้อมอยู่แล้ว หลังจากนี้จะมีการเสนอหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาพิจารณาและให้ ครม.พิจารณาภายใน 60 วันที่จะให้มีการศึกษา อาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) หรืออาจจะเป็นหน่วยงานที่เป็นกลางมาศึกษา แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเป็นหน่วยงานไหน จากนี้จะศึกษาข้อดีข้อเสียและหารืองานที่เกี่ยวข้องว่าใครจะเป็นคนศึกษา เพื่อให้ได้ผู้ที่เป็นกลางจริง ๆ เข้ามาศึกษา เมื่อศึกษาแล้วผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร จะได้นำมาใช้ได้อย่างแท้จริง และต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่จะเป็นส่วนไหน จะเป็นตัวแทนมาจากฝ่ายใด ก็ต้องดูกันต่อไป” พล.อ.อนันตพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย