รัฐสภา 23 มิ.ย.-“สุพัฒนพงษ์” ยันนำกำไร ปตท.ทั้งหมดมาช่วยประชาชนไม่ได้ เหตุเป็นบริษัทมหาชน ต้องยึดกฎหมาย – ผู้ถือหุ้น แนะอนุ กมธ.เชิญทุกโรงกลั่นหารือ ขณะ ก.พลังงาน เดินหน้าเจรจาค่าการกลั่น ถ้ายังสูงต่อเนื่อง เตรียมจับมือพาณิชย์หามาตรการ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องนโยบายชดเชยราคาน้ำมันให้กับประชาชน ผ่านการนำเงินส่วนกำไรของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนสามารถทำได้ผ่านการทำ CSR ตราบที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุน เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายว่าด้วยการจำกัดคู่แข่งทางการค้า และเพิ่มเงินนำส่งเข้ารัฐมากขึ้น เช่น ปกติส่งให้รัฐปีละ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 1.2 แสนล้านบาท เพื่อให้กระทรวงการคลังนำไปชดเชยและเยียยวยา รวมถึงช่วยเหลือประชาชน โดยก่อนหน้านี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยชี้แจงว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย แต่จากการตวจสอบของตนผ่านอนุกรรมาธิการฯ พบว่าสามารถทำได้ จึงขอทราบว่าทำไมกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่นำกำไรของ ปตท.ชดเชยราคาน้ำมันประชาชนแบบถูกกฎหมาย
นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาผ่าน CSR ไม่ขัดข้อง ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลร้องขอให้ ปตท.ช่วยเหลือหลายเรื่อง ทั้ง LPG NGV ซึ่งเชื่อว่าปีนี้จะร่วมหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไรแสนล้านบาท ส่วนที่ระบุว่าขอให้นำกำไรทั้งแสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ส่วนข้อเสนอให้ทำธุรกิจแบบไม่มีกำไร จะทำให้เงินส่งรัฐลดลง หากเป็นการตัดสินใจของ ปตท. ที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจในสาระสำคัญ คือ ไม่หวังกำไร ต้องประชุมผู้ถือหุ้นและตัดสินใจ
“กระทรวงพลังงานจะสั่งหรือบอกไม่ได้ แม้จะบอกมีมาตรการ แต่ต้องตัดสินใจตามอำนาจกฎหมาย พ.ร.บ.บริษัทมหาชน และบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ขอให้อนุ กมธ.เชิญธุรกิจทุกธุรกิจมาหารือว่า ในยามที่ประชาชนเดือดร้อน เลิกทำธุรกิจหากำไร ทำธุรกิจไม่มุ่งหากำไรเลย ต้องตัดสินใจโดยผู้ถือหุ้น สั่งตรงไม่ได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ส่วนที่เกี่ยวกับโรงกลั่นนั้น ขอแนะนำอนุ กมธ.เชิญทุกโรงกลั่นเข้ามาพูดคุย ไม่ใช่เชิญเฉพาะ ปตท.เท่านั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน สำหรับเรื่องค่าการกลั่น กระทรวงพลังงานพยายามเจรจาโรงกลั่นอยู่ โดยได้รับความร่วมมือจากโรงกลั่น 6 แห่ง และเชื่อว่าน่าจะได้ข้อสรุป หากค่าการกลั่นยังสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์หามาตรการต่าง ๆ สร้างกติกาให้โรงกลั่นที่มีส่วนเกินของกำไร ลดราคาต่าง ๆ ต่อไป ถ้าจำเป็นต้องยกร่างกฎหมาย อาจต้องมาส่งถึงสภาฯ แห่งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3 จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา.-สำนักข่าวไทย