กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. –ก.พลังงานเผยแผร่แนวคิดรณรงค์ประหยัดพลังงาน ช่วงราคาน้ำมัน-แก๊สแพง ล่าสุดแนะใช้เตาซุปเปอร์อั้งโล่ หรือเตามหาเศรษฐี โซเชียลแห่แชร์ ด้าน กพช.ประชุมพรุ่งนี้ ขยายอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน “แม่เมาะ” เห็นชอบพีพีเอ 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สปป.ลาว 2 โครงการ ของ GULF และ CKP
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หน่วยงานที่กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ทำหน้าที่หลักในการรณณงค์ประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) –ไฟฟ้า มีราคาแพง โดยวานนี้ (20 มิ.ย.) ทางเฟซบุ๊กของ พพ.โพสต์ภาพและข้อความ #รวมพลังคนไทยลดใช้พลังงานหาร2 เตามหาเศรษฐีร้อนสูง ประหยัดถ่าน ทนทาน ช่วยประหยัดเงิน โดยในเรื่องนี้ สื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์กันมากและวิจารณ์กัน เช่น เราควรจะถอยกลับไปสู่ยุคเตาถ่าน หรือควรพัฒนาไปด้วยเทคโนโลยี เป็นต้น
โดยเนื้อหาของ พพ. ระบุขอนำเสนอเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงหรือเตาซุปเปอร์อั้งโล่ ซึ่งเป็นเตาที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดทั่วไป ซึ่งมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนมากกว่าเตาอั้งโล่ตามท้องตลาดถึง 29% ถ้าหากตามบ้านเรือนหันมาใช้เตามหาเศรษฐีจะสามารถประหยัดไม้ ฟืนและถ่านที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ถึง 500-600 บาท/ครัวเรือน/ปี และช่วยลดการใช้แก๊ส LPG ในครัวเรือน ลองมาดูคุณสมบัติเด่น ๆ ของเตามหาเศรษฐีกันบ้าง
มีลักษณะเพรียวและน้ำหนักเบากว่า ให้ความร้อนสูง อุณหภูมิกลางเตาประมาณ 1,000-1,200 องศาเซลเซียส ประหยัดถ่านกว่าเตาอั้งโล่ท้องตลาด 30-40% วางภาชนะหุงต้ม (หม้อ) ได้ 9 ขนาด ตั้งแต่เบอร์ 16-32 ขณะหุงต้มไม่มีควันและก๊าซพิษเกิดขึ้นเนื่องจากเผาไหม้สมบูรณ์ อายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 2 ปี
ด้านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (22 มิ.ย.) จะพิจารณามาตรการลดผลกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นหลายแนวทาง และกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน เช่น เลื่อนแผนปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 8-11 (รวม 1,080 เมกะวัตต์) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสุทธิประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะจากการลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) และยังบรรเทาผลกระทบจากความสามารถในการจ่ายก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงจากผู้รับสัมปทาน
โดย มติ กพช.เมื่อต้น 2565 เห็นชอบเลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 8 กำลังผลิต 270 เมกะวัตต์ที่มีกำหนดปลด 31 ธ.ค. 2564 ออกไปจนถึง ธ.ค. 65 แต่ภายหลังราคา LNG พุ่งขึ้นต่อเนื่อง และก๊าซแหล่งเอราวัณผลิตได้ต่ำกว่าแผน จึงเลื่อนแผนปลดเครื่องที่ 8-11 ซึ่งเครื่องที่ 9-11 รวมกำลังผลิต 810 เมกะวัตต์กำหนดปลดระวางวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ขอให้เลื่อน 8-11 เป็น 31 ธ.ค. ปี 2568 แทน
นอกจากนี้ กพช.ยังจะพิจารณาโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการหลวงพระบางอัตรารับซื้อ 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือน ม.ค. 73 กำลังผลิต 1,460 เมกะวัตต์ ผู้ถือหุ้นหลัก คือ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP และโครงการปากแบงอัตรารับซื้อ 2.9179 บาท/หน่วย กำหนด COD เดือน ม.ค. กำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ โครงการนี้มี บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญา .-สำนักข่าวไทย