นนทบุรี 15 มิ.ย.-อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้แจงการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน ที่ผ่านมามักจะถูกหยิบยกกล่าวหาบ่อยและได้ชี้แจงทุกด้านครบถ้วน ย้ำกระแสข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อส่งออกกะทิของปีที่ผ่านมาในเชิงมูลค่าไม่มากนัก พร้อมผนึกกำลังภาคเอกชน สร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีมีกระแสข่าวเรื่องห้าง Walmart ของสหรัฐฯ ถอดสินค้ากะทิจากไทยออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า จากการกดดันของ องค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA/พีต้า) ถึงการใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมผลิตกะทิสำเร็จรูป ว่าได้สอบถามไปยังทูตพาณิชย์ที่สหรัฐฯ ซึ่งติดต่อประสานงานกับผู้นำเข้าและห้างผู้จัดจำหน่ายสินค้าไทยรายใหญ่ๆ อยู่ตลอด พบว่าโดยทั่วไป การที่จะมีหรือไม่มีสินค้าบางชนิด/บางยี่ห้อวางขายในบางช่วงเวลานั้น เป็นไปตามวงจรการวางขายสินค้าของร้าน ซึ่งจะมีการปรับสินค้าและปริมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามฤดูกาล โดยที่ขณะนี้ Walmart ยังคงนำเข้า/จำหน่ายสินค้าจากไทย และรักษาความสัมพันธ์อันดีตามปกติ คาดว่า PETA อาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าวที่ไม่ได้มีกะทิจากไทยวางขายสร้างประเด็นทางการค้า
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จัดทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และออกแถลงการณ์ของสมาคมฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกและเก็บมะพร้าว ซึ่งไม่ได้ใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมส่งออก เผยแพร่ต่อผู้นำเข้า/ห้างที่จำหน่ายสินค้าในหลายโอกาสอย่างต่อเนื่อง และผู้นำเข้าส่วนใหญ่เข้าใจวัฒนธรรมของไทย และที่สำคัญ มะพร้าวที่เข้ามาแปรรูปในอุตสาหกรรม ใช้แรงงานคนและเครื่องจักรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน และไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรมแต่อย่างใด รวมทั้งได้ชี้แจงไปยังพีต้าว่าผู้ผลิตกะทิสำเร็จรูปไทยมีมาตรฐานในการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานนานาชาติ ทั้งกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การมีสวัสดิการที่ดีให้แรงงาน รวมถึงการค้าอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกร รวมถึงเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีการออกพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ตลอดจนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเร่งดำเนินการทำ No-monkey Farm list แล้ว
ทั้งนี้ กระแสข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกกะทิของปีที่ผ่านมาในเชิงมูลค่าไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าดังกล่าวใช้ในธุรกิจร้านอาหาร และตลาดผู้บริโภคเชื้อชาติอื่น มากกว่าตลาดหลัก โดยมูลค่าการส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั่วโลกปี 2564 มีมูลค่า 26,582.56 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.57 และตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นหนึ่งในสี่ของการส่งออกทั้งหมดของไทย.-สำนักข่าวไทย