กรุงเทพฯ 8 มิ.ย.- เลขาธิการสผ. เผย กำลังเร่งขับเคลื่อนให้เกิดโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปีค.ศ. 2065 ย้ำควรทำก่อนปี 2040 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 40 ล้านตัน
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศอยู่ระหว่างการทบทวนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LTS) ให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ.2065 โดยจากผลการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS ควรถูกนำมาใช้โดยเร็วที่สุดและอย่างช้าไม่ควรเกิน ค.ศ.2040 โดยประมาณการว่า จะนำ CO2 ไปกักเก็บได้ประมาณปีละ 40 ล้านตัน CO2 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
สำหรับ CCS เป็นกระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต แล้วฉีดอัดก๊าซคาร์บอนร้อยละ 90 ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวลงสู่ใต้ดินที่ความลึกหลายกิโลเมตร (Geological formation) ซึ่งการนำคาร์บอนกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดจะถูกเก็บไว้ไม่รั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายล้านปี
ทั้งนี้การกักเก็บ CO2 ในระยะยาวเริ่มพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ (Commercial scale) ในปี ค.ศ.2000 โดยปัจจุบันมีการใช้งานกว่า 20 โครงการทั่วโลกทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ แคนาดา และจีน ขณะนี้ต้นทุนยังสูง แต่ทั่วโลกเร่งพัฒนาเทคโนโลยี CCS อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง
ดร.พิรุณกล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว ทส. โดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เลขาธิการสผ. และผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นฝ่ายเลขานุการ
ล่าสุด สผ. ได้หารือร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและอบก. เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในประเทศไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลักได้แก่
1. การปรับปรุงกฎ/ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อกให้สามารถดำเนินโครงการได้ทันเวลา
2. การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
3. การกำหนดรูปแบบการลงทุนที่มีความคุ้มค่าและสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน
ปัจจุบันภาคเอกชนหลายรายสนใจนำเทคโนโลยี CCS มาใช้เช่น ปตท.สผ. เริ่มศึกษาเทคโนโลยี CCS ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทยเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นการริเริ่มดำเนินโครงการครั้งแรกในประเทศไทย ขณะนี้ได้เสร็จสิ้นการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) แล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) ล่าสุดกลุ่ม ปตท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในรูปแบบ CCS Hub Model ของกลุ่ม โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรีเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.-สำนักข่าวไทย