กรุงเทพฯ 31 พ.ค. – ดีเดย์ 1 มิ.ย. บังคับใช้ กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามนำข้อมูลส่วนตัว ภาพ เสียงบุคคลอื่น ไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ด้านสื่อมวลชนยังนำเสนอข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ตามปกติ ห่วงข่าวบันเทิงควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) จะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ.2562) หรือ PDPA ว่ากฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อจัดระเบียบข้อมูลข่าวสาร เน้นความคุ้มครอง ปกป้องความเป็นส่วนตัว และป้องกันปัญหาอาชญากรรม เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์ หากมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม เจ้าตัวมีสิทธิ์ ฟ้องแพ่ง อาญา หรือ ร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล ดำเนินการได้
ยกเว้น การนำข้อมูลบางอย่าง ที่กฎหมายให้อำนาจ ไม่เป็นความผิด เช่น การกระทำที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กระทบคนอื่น ข้อมูลในการอภิปรายในสภา ข้อมูลเครดิตบูโร ข้อมูลพยานหลักฐานในชั้นศาล ข้อมูลการสอบสวนสืบสวนคดีความต่าง ๆ เป็นการทำตามสัญญา เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิต หรือร่างกายของบุคคล เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการใช้เพื่อปกป้องประโยชน์ หรือสิทธิของตน ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต รวมถึงกิจการด้านสื่อมวลชนที่มีประมวลจริยธรรมด้านสื่อมวลชนมารองรับ ก็ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นการสื่อสาร ถ่ายทอด ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว แต่ข่าวบางประเภท เช่น ข่าวบันเทิง จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และปรับตัว นำเสนอข่าวให้มากกว่าข่าวประเภทอื่น เพราะข่าวเทิงมักเป็นเรื่องส่วนบุคคล ชีวิตส่วนตัวของศิลปิน ดารา ฯลฯ พร้อมเตือนพวกยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีคนมาติดตาม กฎหมายไม่ได้ยกเว้น จึงต้องระมัดระวังการ ถ่ายรูป การแชร์ข้อมูลของบุคคลส่วนบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังการประกาศใช้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ข้อมูลส่วนบุคคลจะเน้นทำความเข้าใจ ตักเตือนก่อนในช่วงหนึ่งปีแรก คือตั้งแต่ 1 มิ.ย 65-1 มิ.ย. 66 เน้นการว่ากล่าวตักเตือนเพื่อให้เกิดการแก้ไข จากนั้นจะเริ่มใช้บังคับอย่างจริงจัง โดยประชาชนหากพบถูกละเมิดสามารถร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลได้ โดยหน่วยงานจะมีขั้นตอนการรับเรื่อง ไกล่เกลี่ย ตักเตือน แก้ไข ขั้นหนักสุดคือการปรับ ซึ่งจะเป็นมาตรการสุดท้าย ซึ่งมีความร้ายแรงและกระทบกับสังคมหมู่มาก เน้นปรับขั้นต่ำ โดยจะมีตัวแทนจากภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาช่วยพิจารณาแนวทางการปฎิบัติ การพิจารณา ลงโทษ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งเงินค่าปรับจะตกเป็นของหลวงเท่านั้น ยกเว้นผู้เสียหายนำผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ไปยื่นประกอบการฟ้องร้องทางแพ่งและฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเอง. -สำนักข่าวไทย