หนองคาย 25 พ.ค. – “รมช.มนัญญา” ลุยแก้ปัญหาความแออัดด่านตรวจพืชหนองคาย รองรับการขยายตัวส่งออก-นำเข้า สินค้าเกษตร
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนด่านศุลกากรหนองคาย พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมด่านพรมแดน (ขาออก) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมือง จ.หนองคาย โดยที่ประชุมได้รายงานการสถานการณ์การนำเข้า-ส่งออก สินค้าของด่านศุลกากรหนองคาย และด่านตรวจพืชหนองคาย และหารือถึงปัญหาความแออัดของรถตู้คอนเทนเนอร์หน้าด่าน จากนั้นตรวจเยี่ยมขั้นตอนการตรวจปล่อยทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ผ่านทางรถไฟสาย ไทย-ลาว-จีน ณ ลานตรวจสินค้า ด่านศุลกากรหนองคาย
รมช.มนัญญา กล่าวว่า ตามที่ได้รับแจ้งว่าเกิดปัญหาความแออัดของรถตู้คอนเทนเนอร์ขนสินค้าที่หน้าด่านศุลกากรหนองคาย ทำให้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเกิดความล่าช้า โดยในเรื่องนี้ตนได้มีความเป็นห่วงและจะเร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด จึงได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และพบว่าปัญหาความแออัดนั้นเกิดจากสถานที่ด่านซึ่งมีพื้นที่จำกัด เพียง 40 ไร่ จึงทำให้ไม่มีพื้นที่จอดคอย ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้ทำหนังสือของบปรับปรุงขยายพื้นที่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมบูรณาการร่วมกับจังหวัด และจะช่วยประสานส่วนกลาง เพื่อเร่งปรับปรุงพื้นที่ รองรับการขยายตัวสินค้าส่งออก-นำเข้าในด่านแห่งนี้ และรองรับการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งจะต้องเตรียมการและเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนตัวคิดว่าควรจะต้องรวดเร็วมากกว่านี้ ไม่รอจนกว่ารถไฟเชื่อมต่อกันแล้วเสร็จ แล้วค่อยสร้างสถานที่รองรับ เนื่องจากจุดนี้มีสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่หลากหลายไม่เพียงแต่ทุเรียน ในอนาคตหากรถไฟเชื่อมกันเสร็จจะเป็นอีกด่านหนึ่งที่รองรับการส่งออกได้มากขึ้น และเป็นหารเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้า ส่วนในขั้นตอนของการตรวจปล่อยทุเรียนส่งออกไปยังประเทศจีน ไม่มีปัญหาความล่าช้า แต่เร็วขึ้นมาก เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการโดยมีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ สามารถตรวจและเคลื่อนย้าย ทำให้ย่นระยะเวลาลง รวมถึงนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการปฎิบัติงาน เช่น ขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยต้องมีการตรวจสอบข้อมูลกับระบบ GAP online ซึ่งเปิดใช้งานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจะนำเรื่องที่หารือกันในวันนี้ไปนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบด้วย
ทั้งนี้ ด่านตรวจพืชหนองคายได้เปิดให้บริการ เพื่อให้เป็นด่านนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยและจีน ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม สู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีช่องทางส่งออกเพิ่มขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการส่งออกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชหนองคาย อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช หรือใบแทน กรณีต้องแก้ไข ตลอดจนให้นายตรวจพืชปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า สวมแหล่งกำเนิดสินค้า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกขั้นตอน และปรับปรุง แก้ไขให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงให้ครอบคลุมมาตรการป้องกันแพร่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ที่จะส่งผลกระทบทางการค้าระหว่างกันให้น้อยที่สุด
ที่ด่านตรวจพืชหนองคาย ก่อนที่ยังไม่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว–จีน จะมีการใช้รถบรรทุกส่งออกไปยังประเทศสปป.ลาว เพียงประเทศเดียว ซึ่งปริมาณการส่งออกของปี 2564 มีปริมาณ 47,644.36 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งปี 664.62 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ส่งออก ได้แก่ กากถั่วเหลือง ปลายข้าว กากปาล์ม และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว มีปริมาณการส่งออกถึง 2,611.88 ตัน คิดเป็นมูลค่า 424.81 ล้านบาท ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 63.92 ของการส่งออกของไตรมาสแรกของการส่งออกเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกทั้งปี 2564
สำหรับด่านนำเข้า-ส่งออกทางบกของไทย ได้แก่ 1. เชียงของ 2. นครพนม 3. มุกดาหาร 4. บ้านผักกาด 5. บึงกาฬ และ 6. หนองคาย ส่วนด่านนำเข้า-ส่งออกของจีน ได้แก่ 1.โหว่อี้กวน 2. โม่ฮาน 3. ตงชิน 4. ด่านรถไฟผิงเสียง 5. ด่านรถไฟโม่ฮาน 6. เหอโขว่ 7. ด่านรถไฟเหอโขว่ 8. หลงปัง 9.เทียนเป่า และ 10 สุยโขว่
หลังจากนั้นรมช. มนัญญาเดินทางไปยังสำนักงานด่านตรวจพืชหนองคายเพื่อตรวจติดตามโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ อาคารกักกันพืช เตาเผาทำลายสินค้าตัวอย่าง เพื่อจัดเตรียมความพร้อมในการตรวจรับรองปริมาณงานในอนาคต ในการให้บริการตรวจปล่อยสินค้าพืช ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อการนำเข้า นำผ่าน และส่งออก ตลอดจนตรวจเยี่ยมด่านกักกันสัตว์หนองคาย และศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 2 (หนองคาย) โดยได้เน้นย้ำให้รักษาคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก.-สำนักข่าวไทย