กรุงเทพฯ 24 เม.ย.- พาณิชย์ขอดูโครงสร้างราคาไข่ไก่ หลังรายย่อยขอขึ้นไข่คละหน้าฟาร์มอีก 10 สตางค์ต่อฟองไปแล้ว หากรายใหญ่จะขอขึ้นขอคุยกันก่อน ระบุกระทบหลายด้าน ขณะที่ปลัดพาณิชย์ ชี้เตรียมแผนรับมือปล่อยดีเซลลอยตัวไว้แล้ว ทุกฝ่ายจะต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่เอารัดเอาเปรียบ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ทางกรมการค้าภายในได้รับทราบกรณีที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด, และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด ได้ประกาศปรับราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ขึ้นอีกฟองละ 10 สตางค์ คือ ปรับจาก 3.40 บาทต่อฟองเป็น 3.50 บาทต่อฟอง มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.65 ที่ผ่านมา โดยเหตุผลจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมการค้าภายในกำลังติดตามตรงนี้ และหากผลกระทบจากต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความจริงก็คงต้องปล่อยให้ไข่ไก่ปรับเพิ่มราคาขึ้นได้ แต่ทางกรมฯ จะพยายามหากสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่รายอื่นๆ ซึ่งเป็นรายใหญ่ พอที่จะตรึงราคาไข่ไก่ไปก่อนจากที่เคยปรับขึ้นไปไข่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ 3.40 บาท เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา และหากสมาคมฯ ต่างๆ ไม่สามารถแบกรับต้นทุนดังกล่าวได้ ก็คงจะต้องมีการประชุมร่วมกันหาทางออกกันต่อไป เพราะกระทรวงพาณิชย์ทราบถึงผลกระทบดังกล่าวดีแต่หากปรับขึ้นไปมากจะกระทบภาคธุรกิจต่อเนื่องและเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคมากจนเกินไป โดยทุกภาคส่วนจะต้องอยู่ร่วมกันได้และมีความเป็นธรรมทุกฝ่าย
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวย้ำถึงที่รัฐบาลจะปล่อยให้น้ำมันดีเซลลอยตัวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ทำให้ประชาชนหวั่นวิตกว่าราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจะปรับขึ้นราคากันเป็นจำนวนมากที่จะสร้างความเดือดร้อนและเพิ่มภาระค่าครองชีพให้สูงขึ้นอีกนั้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแนวทางวิเคราะห์และดูแลต้นทุนสินค้าอุปโภคและบริโภคอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว แม้ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับราคาขึ้นไปก็ไม่ได้หมายความว่า สินค้าทุกกลุ่มจะปรับราคาสูงขึ้น โดยจะต้องดูต้นทุนที่แท้จริงของราคาสินค้าแต่ละรายการว่ามีต้นทุนสูงขึ้นจริงแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม หากต้นทุนสินค้าบางรายการมีการปรับขึ้นจริง ก็ต้องดูว่าต้นทุนสูงขึ้นแค่ไหน หากต้นทุนสินค้าชนิดขึ้นไปมากก็คงต้องปล่อยให้ปรับเพิ่มราคาขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง แต่หากบางรายการสินค้าต้นทุนขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่จะขอปรับเพิ่มเท่ากับสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากก็คงไม่ได้รับการพิจารณาแน่นอน ซึ่งทางกรมการค้าภายในมีบทวิเคราะห์ถึงต้นทุนของสินค้าทุกชนิดอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจว่ากระทรวงพาณิชย์มีแนวทางติดตามราคาสินค้าทุกชนิดอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ตามข้อกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สินค้าใดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ต้องควบคุมการปรับราคาสินค้าใดก็ตามจะต้องแจ้งมายังกรมการค้าภายในได้พิจารณาและวิเคราะห์ถึงต้นทุนที่แท้จริงก่อน และหากรายการสินค้าใดเป็นกลุ่มที่เฝ้าติดตามหากจะปรับขึ้นสินค้าจะต้องรายงานของกรมการค้าภายในทราบก่อนปรับราคา ซึ่งเวลานี้ กระทรวงพาณิชย์ทราบดีจากผลกระทบต้นทุนในด้านต่างๆ ที่ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าสูงขึ้น ดังนั้น หากรายการสินค้าใดกระทบต้นทุนสูงขึ้นมากและกรมการค้าภายใน เห็นว่ากระทบต้นทุนมากจริงก็จะต้องให้ปรับราคาสินค้าขึ้นไปได้เพื่อให้เป็นกลไกตลาด แต่หากรายการยังไม่กระทบต้นทุนมากก็จะขอให้แบกรับต้นทุนไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไปและที่สำคัญจะต้องไม่เอารัดเอาเปรียบหรือฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าขึ้นเกินความจำเป็น.-สำนักข่าวไทย