ธนาคารออมสิน 27 ธ.ค. – ธนาคารออมสินจ่ายเงินให้ผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1.9 ล้านราย เตรียมเสนอ ครม. ขยาย ระยะเวลาจ่ายเงินออกไปถึงวันที่ 31 ม.ค. 60
นางสาวจิราพร นุกิจรังสรรค์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการโอนเงินตามมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งที่อยู่ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรแล้ว ประมาณ 1.9 ล้านราย จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ที่กระทรวงการคลังได้ส่งรายชื่อมายังธนาคารออมสินจำนวน 2.1 ล้านราย โดยพบว่าอีกกว่า 200,000 ราย ที่ยังไม่ได้มีการโอนเงินนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เปิดบัญชีไว้กับทางธนาคาร ซึ่งทางธนาคารได้ประสานให้ผู้ที่มาลงทะเบียนไว้มาเปิดบัญชี และทางธนาคารพยายามตรวจสอบเพื่อหาบัญชีธนาคารของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อาจไปเปิดไว้กับธนาคารอื่น จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ลงทะเบียนจำนวนนี้มาติดต่อเปิดบัญชี เพื่อธนาคารออมสินจะได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชี
สำหรับการจ่ายเงินสวัสดิการรัฐจะเร่งจ่ายเงินให้ครบภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ แต่เบื้องต้นกระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอขยายระยะเวลาการโอนเงินให้กับผู้มีรายได้น้อยออกไปอีก 1 เดือน คือ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ม.ค. 60 แต่ถ้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบให้ขยายเวลา ทั้ง 3 ธนาคาร ประกอบด้วย ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จะทำรายงานถึงกระทรวงการคลังว่าไม่สามารถจ่ายเงินสวัสดิการได้ทันตามกำหนด โดยขณะนี้ได้เตรียมหนังสือพร้อมยื่นแล้วหากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบ
โดยธนาคารออมสินได้ขอให้ผู้ลงทะเบียนกับธนาคารออมสิน ตรวจสอบรายชื่อของตนเองว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่ และได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแล้วหรือไม่ได้ที่เว็บไซต์ www.epayment.go.th และ www.gsb.or.th
นอกจากนี้ นางสาวจิราพร และรองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหารศูนย์รังสิต ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ ธนาคารออมสิน (ออมสิน – ธรรมศาสตร์โมเดล)
สำหรับโครงการด้านเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องการเสริมสร้างความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนา สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนเพิ่มกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกันในชุมชน ซึ่งตลอดช่วงกิจกรรมที่ผ่านมาที่ธนาคารออมสินได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นมา สร้างประโยชน์กับชุมชน จึงได้จัดทำแผนงานปี 2560 โครงการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ในรูปแบบ “ออมสิน-ธรรมศาสตร์โมเดล”
ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน ได้คัดเลือกกลุ่มเข้าร่วมโครงการรวม 6 กลุ่ม ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.กาญจนบุรี ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าว อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม กลุ่มอาชีพแปรรูปข้าวสาร กลุ่มหัตถกรรมชุมชนตำบลพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี กลุ่มแม่บ้านบ้านทะกระดาน กลุ่มขนมบ้านทุ่งนา อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พร้อมนำนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโททางการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 60 คน เพื่อให้ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาองค์ความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การวางแผนการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายโดยธนาคารออมสินสนับสนุนการจัดกิจกรรมกลุ่มละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับชุมชน พร้อมยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทุนของชุมชน จนก้าวสู่ความพร้อมที่จะแข่งขันเพื่อพัฒนา ที่สำคัญคือ องค์ความรู้ที่ได้สามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมกลุ่มองค์กรชุมชน เพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเผยแพร่และขยายผลต่อไป – สำนักข่าวไทย