พังงา 27 ธ.ค.-หลังเหตุพิบัติภัยสึนามิ ปี 2547 ชาวบ้านชุมชนหาดบางสัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้รับผลกระทบคลื่นซัดบ้านพังเสียหาย 12 ปีผ่านไป ชาวบ้านยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ แม้มีคำสั่งอนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ขณะที่กลุ่มชาวเลยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทำกินและสานต่อวัฒนธรรมชนเผ่า
วิลาวัลย์ ผู้ประสบภัยสึนามิ สูญเสียญาติ 23 คน และบ้านพังเสียหายทั้งหมด นำทีมข่าวสำรวจพื้นที่ ที่ตั้งเดิมของชุมชนหาดบางสัก วันนี้ 36 ครัวเรือนต้องแยกย้ายคนละทิศทาง เหลือเพียงซากปรักหักพัง แม้ผ่านมา 12 ปี ชาวบ้านยังคงถูกลอยแพ ซ้ำรัฐยังประกาศให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทั้งที่มีหลักฐานยืนยันว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน และรัฐมีมติว่าสามารถออกเป็นโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านได้ แต่เมื่อขอจดทะเบียนใช้พื้นที่เพียง 7 ไร่ กลับทำไม่ได้ ที่ดินพังงาอ้างเกรงเป็นการนอมินี จนต้องถวายฎีกาถึง 3 ครั้ง แต่จังหวัดระบุแก้ปัญหาแล้ว
12 ปีสึนามิ หลายคนมองว่านี่คือวิกฤติที่คลื่นซัดคนออกจากพื้นที่ ทั้งยังนำพาวิถีชีวิตและจิตวิญญาณออกไปด้วย วิถีชีวิตของชาวมอแกน ชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่กว่า 300 ปี หลังสึนามิ ถูกจำกัดที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อย่างหาดทับตะวัน หรือมอแกนบีช พื้นที่จอดเรือหน้าแล้งและแหล่งถ่ายทอดภูมิปัญญาชนเผ่า ทั้งประมงพื้นบ้าน การแทงโวยวาย หรือหมึกสาย และการต่อเรือ กำลังจะถูกกลืนและแทรกซึมด้วยทุนธุรกิจท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน ขุมเขียว พื้นใกล้เคียง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และจุดจอดเรือ การเปลี่ยนมือของกลุ่มทุน หวั่นได้รับผลกระทบระยะยาว จึงอยากให้รัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีอัตลักษณ์ชาวเล เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนพื้นที่ได้อย่างสงบสุข และผลักดันเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมพิเศษชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2553
ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงายืนยันว่า ไม่พบปัญหาหรือข้อบกพร่องในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ โดยได้ติดตามปัญหาเป็นระยะ ทุกครั้งผ่านไปด้วยดี
หลายคนเปรียบสังคมไทยกำลังเจอคลื่นยักษ์ระลอกใหม่ ชาวบ้านยังเผชิญชะตากรรม แม้นายกรัฐมนตรีลงนามความร่วมมือกับยูเอ็นให้พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หลายฝ่ายเชื่อว่าควรเริ่มจากชุมชน และดึงหน่วยงานรัฐ เอกชน มาพูดคุยตามข้อเท็จจริง ความถูกต้องและความเข้าใจบนหลักมนุษยชน ปัญหาจะคลี่คลาย.-สำนักข่าวไทย