กรุงเทพฯ 29 มี.ค. – วัคซีนโควิดที่พัฒนาในไทย 4 ชนิด ใกล้ยื่นขอขึ้นทะเบียน อย. แล้ว ขณะที่วัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก คาดทดสอบในมนุษย์ไตรมาส 2 ปีนี้
สำหรับความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิดในประเทศไทย ขณะนี้มีวัคซีนอยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนากว่า 20 ชนิด วัคซีนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดมี 4 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีน Chula-Cov19 2.วัคซีนHXP-GPOVac 3.วัคซีนBaiya SARS-CoV-2 Vax และ 4.วัคซีนCovigen ซึ่งอยู่ในขั้นทดสอบในมนุษย์และหากทดสอบครบ 3 ระยะ ก็จะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา หรือ อย. ได้
ขณะที่เมื่อ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเชิญผู้สนใจเป็นอาสาสมัครทดสอบวัคซีนสูตรปรับปรุงใหม่รับเชื้อกลายพันธุ์วัคซีน “ใบยาซาร์สโควีทูแวกซ์ 2” (Baiya SARS CoV-2Vax2) ซึ่งเป็นสูตรปรับปรุงใหม่รับเชื้อกลายพันธุ์เพื่อการทดสอบระยะที่ 1 ณ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดรับอาสา สมัครกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อายุระหว่าง 18-64 ปี และอาสาสมัครต้องยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน
สำหรับวัคซีนตัวอื่นๆ มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับทดสอบในสัตว์ทดลอง และมีหลายประเภท ทั้งชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) ชนิดโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit) ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) ชนิดอนุภาคไวรัสเสมือน (Virus-like particle: VLP)เป็นต้น ซึ่งความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนต่างๆ มาจากความร่วมมือที่ของหลายหน่วยงาน
ส่วนการพัฒนาวัคซีนโควิดแบบพ่นจมูก ซึ่งแนวโน้มจะมีการใช้เพิ่มขึ้น ข้อดีคือใช้งานง่าย เป็นวัคซีนพ่นละอองฝอยในโพรงจมูกผ่านเข็มฉีดพ่นยาชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งวัคซีนไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง ซึ่งไวรัสส่วนใหญ่มักเข้าสู่ร่างกายผ่านจมูกและก่อตัวขึ้นในโพรงจมูกก่อนแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายรวมถึงปอด ขณะนี้ทีมนักวิจัยไบโอเทค ได้พัฒนาวัคซีนพ่นจมูก NASTVAC ที่ผ่านการทดลองในสัตว์แล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตตัวอย่างวัคซีนประมาณ 200-300 โดส เพื่อใช้สำหรับการทดสอบในมนุษย์ได้ในไตรมาสสองปีนี้
นอกจากนี้ยังมีสเปรย์แอนติบอดีพ่นจมูกที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโควิดซึ่งได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือ 5 ภาคีเครือข่ายรัฐเอกชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การเภสัชกรรม และบริษัทไฮไบโอไซ ซึ่งได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นในสัตว์ทดลองมีผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อ อย. ประมาณเดือนมิถุนายน และจะผลิตออกสู่ตลาดประมาณไตรมาส 3 ของปีนี้.-สำนักข่าวไทย