กทม. 28 มี.ค.- “นิกร” ห่วงเลือกตั้งโมฆะ หากเคาะใช้เบอร์ผู้สมัคร ส.ส. เดียวกัน 2 ระบบ
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่กมธ. เตรียมลงมติต่อประเด็นการกำหนดหมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ว่าจะเป็นหมายเลขเดียวกันหรือต่างหมายเลขกัน ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 30 มีนาคม เวลาประมาณ 11.30 น. ว่า ตนจะลงมติให้ใช้หมายเลขต่างกัน ตามที่เสนอไว้ในร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 และในอนาคตอาจเป็นช่องทางที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นให้เป็นโมฆะได้
นายนิกร กล่าวด้วยว่า ความต้องการให้มีหมายเลขเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดียวกันเพื่อสะดวกในการลงคะแนนเลือกตั้ง เหมือนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2554 ที่ระบุชัดเจนว่า บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชี และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้ง 2 แบบไม่ยึดโยงกันโดยตรง ทำให้กกต.สามารถนำเบอร์ของพรรคการเมืองที่ได้ก่อน ใช้กับผู้สมัครแบบเขตของพรรคนั้นๆเป็นเบอร์เดียวกันเพื่อความสะดวกได้ แต่การแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่กมธ.พิจารณา ต้องทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 90 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งทั้ง 2 ระบบ ผูกมัดระหว่างกัน
“ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 90กำหนดให้พรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน ถึงมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่สามารถปรับเป็นวิธีสมัครแบบเขต ที่รอเบอร์ไว้ก่อน โดยอ้างว่าแล้วเสร็จ จากนั้นให้เปิดสมัครแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เบอร์ที่ได้ภายหลังไปยกให้ผู้สมัครแบบเขตของพรรคนั้นๆ ได้ เพราะหากทำจะเข้าทำนองวิถีศรีธนญชัย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นโมฆะได้” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่าแม้ตามรัฐธรรมนูญ ระบุให้นำ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จัดทำแล้วเสร็จ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระพิจารณา แต่เป็นการพิจารณาในตัวอักษร แต่เมื่อปฏิบัติจริงในการเลือกตั้งจริงก็จะสุ่มเสี่ยงและจะเกิดความเสียหายตามมา.-สำนักข่าวไทย