กทม.11มี.ค.-ก.แรงงาน จับมือ 2 สถาบันการศึกษา 3 สมาคม เตรียมตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านวิชาชีพของคนพิการในประเทศไทย ตอบโจทย์ทุกปัญหาการจ้างงานคนพิการ หวังเป็นต้นแบบส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืน
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยพร้อมจะขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาอาชีพคนพิการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยสั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงใช้กลไกประชารัฐที่เน้นการบูรณาการร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้คนพิการมีงานทำต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดความมั่นคงในชีวิตและมีรายได้ซึ่งในส่วนของกรมฯนั้น ได้กำหนดกรอบแผนการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ20 ปี (2560-2579) มุ่งให้คนพิการมีงานทำและมีรายได้ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ใน 5ปีแรก(2560-2564) ตั้งเป้าหมายให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จำนวน 3,000 คนต่อปีและมาตรา35จำนวน 10,000 คนต่อปีและมีรายได้เหนือเส้นรายได้ปานกลาง
นายวรานนท์ กล่าวต่อว่าขณะนี้กรมได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยราชสุดา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทยและสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทย เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านวิชาชีพของคนพิการในประเทศไทย (JOB COACH THAILAND CENTER) ที่กระทรวงแรงงาน ศูนย์นี้จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาการจ้างงานคนพิการได้ จากที่ผ่านมาระบบการจ้างงานคนพิการยังขาดกระบวนการเชื่อมโยงประสานระหว่างคนพิการและนายจ้างในการเป็นที่ปรึกษาแนะนำการจ้างงานคนพิการให้เหมาะกับตำแหน่งงานของสถานประกอบการ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรมในการส่งเสริมการมีงานทำและการประกอบอาชีพของคนพิการ ทำให้สถานประกอบการได้คนพิการไม่ตรงและไม่สอดคล้องกับความสามารถของคนพิการ
สำหรับศูนย์ JOB COACH มี 3กระบวนการหลัก คือ1) การบ่มเพาะก่อนจ้างงาน จะเป็นระบบคัดกรองความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ มีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านต่างๆ 2) การส่งต่อ เป็นการสนับสนุนเข้าสู่การจ้างงาน คำนึงถึงความแตกต่าง ความถนัดบุคคล 3) การรักษา เป็นการพัฒนาหลังจ้างงาน เพื่อให้สามารถมีโอกาสทำงานในสถานประกอบการได้มากขึ้นและมีทักษะในวิชาชีพได้มาตรฐานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนในการจ้างงานที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ JOB COACH เป็นการจัดทำระบบสนับสนุนบ่มเพาะการจ้างงานคนพิการครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การคัดกรองรับสมัครคนพิการ การจำลองศูนย์การฝึกวิชาชีพตามความต้องการของภาคเอกชน พร้อมทั้ง Matching คนพิการที่ผ่านการอบรมเข้ารับการจ้างกับองค์กรเอกชน และมีการติดตามการทำงานของคนพิการที่เข้าทำงานในสถานประกอบการ มีเป้าหมายคนพิการมาใช้บริการ 2,000 คน มีสาขาอาชีพที่ฝึกในเบื้องต้นประมาณ 10 สาขา เช่น ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น หากได้รับการตอบรับที่ดีจากคนพิการและสถานประกอบการก็จะได้พัฒนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป .-สำนักข่าวไทย