รร.สุโกศล 23 มี.ค.-แนะกลุ่มเสี่ยง 608 รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และโควิดร่วมกันได้ในวันเดียว ไม่ต้องเว้นระยะอีกต่อไป พร้อมเผยพบคนติดเชื้อโควิด 3% มีติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ร่วม ทำให้รุนแรงปอดอักเสบ รับวิธีแยกโควิดกับหวัดใหญ่ทำยาก ต้องอาศัย ATK กับเกณฑ์ใกล้ชิดคนติดเชื้อ อนาคตหากเป็นโรคประจำถิ่นไม่ต้องตรวจเอทีเค
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ พร้อมด้วยศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่อง ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่ในยุคโควิด-19 ว่า ทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด ยังอยู่กับคนเราตลอดไป ขณะนี้ที่สถานการณ์ดีขึ้น ก็เพราะการสวมหน้ากากอนามัย และการรับวัคซีน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการถอดหน้ากากออก โอกาสที่โรคจะกลับมารุนแรงแน่นอน เพราะหน้ากากไม่สามารถป้องกันโรค 100% และส่วนใหญ่ของคนติดเชื้อโควิดขณะนี้ 70-80% ไม่มีอาการ โดยพบว่า หากมีการติดเชื้อไข้หวัดร่วมกับโควิดจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ปอดอักเสบ ซึ่งในจำนวนของผู้ป่วยโควิด มี 10% ที่มีการติดเชื้อไวรัสอื่นร่วม และมีถึง 3% ที่มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้การรับวัคซีนป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด จึงถือเป็นทางออกที่ดีในการป้องกันโรค
นพ.ทวี กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันมีการฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงฟรี ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก พบว่าช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรค เช่นเดียวกับโควิด การรับวัคซีนก็ช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ในวันเดียวกับการรับวัคซีนโควิด ไม่จำเป็นต้องมีระยะห่างอีกต่อไป เพียงแต่ฉีดคนละแขน เพราะแทบไม่ก่ออาการข้างเคียง โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการผลิตและฉีดมากว่า 80 ปีแล้ว พร้อมย้ำการตรวจ ATK ควรทำเมื่อมีความจำเป็น เช่นมีอาการ หรือ ไปสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการสิ้นเปลือง และเพิ่มความเสี่ยงเรื่องผลบวกลวง ในอนาคตหากกลายเป็นโรคประจำถิ่น ATK ควรสงวนไว้เพื่อใช้กับคนที่มีข้อบ่งชี้ มีอาการ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจคัดกรองคนเพื่อเข้าทำงาน หรือสถานที่อีกต่อไป
ศ.นพ. ธีระพงษ์ กล่าวยอมรับการแยกระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด ทำได้ยากเนื่องจากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการใกล้เคียงกัน ดังนั้นการใช้ ATK ในการตรวจคัดกรองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ และร่วมกับมีเกณฑ์ชี้วัดจากการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น ในครอบครัว หรือ ในที่ทำงาน ก็จะช่วยคัดกรองแยกโรคได้ส่วนหนึ่ง พร้อมย้ำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีความจำเป็นในการช่วยป้องกันกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งผู้สูงอายุ คนป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ หรือแม้กระทั่งเด็กอายุ 6 เดือน โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น 3 หรือ 4 สายพันธุ์ ไม่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี เชื่อว่าในอนาคตต่อไปจะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สาเหตุที่ตอนนี้ยังพบ 3 สายพันธุ์เนื่องจากโรงงานผลิตบางแห่งยังมีศักยภาพผลิตแค่ 3 สายพันธุ์ อีกทั้ง ตัวสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ที่บรรจุในวัคซีน มีความใกล้เคียงกัน ทั้งซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มฉีดได้ในราวต้นเดือนพฤษภาคมนี้ .-สำนักข่าวไทย