สำนักข่าวไทย 13 มี.ค.-กรมพัฒน์ฯ ขานรับนโยบายนายกฯ จัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งและขอทาน พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ตลอดมี.ค.เข้ม เผย 12 วัน พบแล้ว 161 ราย เร่งหารือแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) กล่าวว่า หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตำรวจ เร่งจัดระเบียบคนไร้ที่พึ่งและขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในเดือนมีนาคมนี้ รวม31วัน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเจ้าหน้าที่ทุกคน ทำงานกันอย่างเต็มที่ออกตรวจทั้งกลางวันและกลางคืน โดยตั้งแต่วันที่ 1-12 มี.ค.ที่ผ่านมา พบแล้วทั้งหมด 161 ราย เป็นคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่ง 85 ราย ขอทาน 76 ราย ในจำนวนนี้เป็นขอทานต่างด้าง 41 ราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลว่างงาน ผู้ป่วยทั้งทางจิตและร่างกาย พิการ และเป็นผู้สูงอายุที่ ไม่อยากอยู่กับครอบครัว ถูกครอบครัวทอดทิ้ง เบื้องต้นได้คัดกรองให้ความช่วยเหลือและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งต่อ ตม.เพื่อส่งกลับประเทศสำหรับขอทานต่างด้าวแล้ว
นอกจากนี้ยังจัดทำบ้านมิตรไมตรีเคลื่อนที่เพื่อเป็นที่อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และคอยรับฟังปัญหาในพื้นที่ที่มีคนเร่ร่อนอาศัยอยู่มาก อย่าง สถานีรถไฟหัวลำโพง บางซื่อ ดินแดง และในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ภูเก็ตและ ชลบุรี เป็นต้น
อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ กล่าวอีกว่า การจัดระเบียบที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นเพื่อให้การแก้ปัญหาคนไร้ที่พึ่งและขอทานยั่งยืน ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับมา ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ติดยาเสพติด ความตึงเครียดจากสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว การตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นต้น โดยวันนี้จะเร่งหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดพม.ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทาง การดำเนินในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะแนวทางการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวที่เป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญ ในการแก้ปัญหาคนไร้ที่พึ่งและขอทาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวจะหมดไปไม่ใช่เพียงการทำงานของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากความร่วมมือของคนในสังคม หากพบเห็นกลุ่มคนดังกล่าว สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมย้ำว่าการจัดระเบียบ ไม่ใช่การกวาดล้าง แต่เป็นการฟื้นฟูให้กลุ่มคนดังกล่าวได้รับการดูแล เข้าถึงสวัสดิการของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย