กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – “ปลัดทองเปลว” สั่งการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติฯ เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยใน 7 จังหวัดภาคใต้ กำชับกรมชลประทานเร่งระบายน้ำ พร้อมให้ทุกหน่วยฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่เสียหาย เร่งสำรวจเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกร
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พื้นที่เกษตรภาคใต้ที่ประสบสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และวาตภัย ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 08.00 น.) ใน 7 จังหวัด ดังนี้
1) จ.นครศรีธรรมราช เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ปากพนัง อ.เมือง อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ อ.พระพรหม อ.นบพิตำ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีสัตว์ได้รับผลกระทบ 251 ตัว (โค 1 ตัว สัตว์ปีก 250 ตัว)
2) จ.พัทลุง เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กงหรา อ.เมือง และ อ.เขาชัยสน มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับผลกระทบ 1,700 ไร่
3) จ.สงขลา เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นาทวี และ อ.รัตนภูมิ มีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราได้รับผลกระทบ 30 ไร่
4) จ.ปัตตานี เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่ลาน อ.หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2-3 วัน
5) จ.ยะลา เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บันนังสตา อ.ยะหา และ อ.รามัน คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2-3 วัน
6) จ.นราธิวาส เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 13 อำเภอ ได้แก่ อ.รือเสาะ อ.ตากใบ อ.แว้ง อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก อ.เมือง อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.จะนะ ผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืช เกษตรกร 22,895 ราย พื้นที่ไดรับผลกระทบ 10,509.66 ไร่ (ข้าว 4,317 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,570.66 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,622 ไร่) ด้านประมง เกษตรกร 102 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น ปลาในบ่อดิน 46 ไร่ ปลาในบ่อซีเมนต์ 78 ตารางเมตร และด้านปศุสัตว์ เกษตรกร 375 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 491 ตัว แบ่งเป็น โค 319 ตัว ไก่ 172 ตัว
7) จ.ตรัง เกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ประสบภัยรวม 1 อำเภอ คือ อ. นาโยง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 2-3 วัน
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า มอบหมายหน่วยงานระดับกรมช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ กรมชลประทานปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเร่งระบายน้ำหรือสูบน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน และพื้นที่เกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว จากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ให้ปฏิบัติตามแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมทั้งเข้าฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่เสียหาย
จากนั้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ให้เร่งสำรวจความเสียหายและจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562. – สำนักข่าวไทย