สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ 18 มี.ค.-ผู้ว่าฯ สตง. ยันใช้มาตรา 61 ตามประมวลรัษฎากร ให้กรมสรรพากรทำหน้าที่ในการประเมินภาษีเพื่อเรียกคืนภาษีหุ้นชินฯ รอดูผล 31 มี.ค.นี้ เชื่อต้องมีคนรับผิดทางอาญาแน่นอน ยันการตรวจสอบนักการเมืองกว่า 60 คนไม่ได้รับคำสั่ง แต่ทำตามหน้าที่ ย้ำทุกคนต้องเสียภาษีให้แผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 มี.ค.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จัดอภิปรายสาธารณะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า? ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “การตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีการโกงภาษีหุ้นชินคอร์ปและภาษีเชฟรอน” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์
โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า หลังจากมีการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งได้มีการพูดถึงการนำมาตรา 44 มาใช้ในกรณีนี้ โดยเห็นพ้องกันว่าจะต้องดำเนินการตามมาตรา 61 ตามประมวลรัษฎากร ให้กรมสรรพากรทำหน้าที่ในการประเมินภาษีเพื่อเรียกคืนภาษีหุ้นชินคอร์ป และจะไม่มีการเสนอให้ใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 ในกรณีดังกล่าว
“มีบางฝ่ายเกรงว่าการใช้มาตรา 44 จะถูกกล่าวอ้างได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะต้องเรียกเก็บจากนักการเมือง อาจถูกมองว่าเป็นการใช้เครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือใช้อำนาจในการบีบบังคับ จนกระทบต่อหลักนิติธรรม และยังไม่ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของกรมสรรพากรทั้งที่มีกฎหมายอยู่แล้ว จะสร้างความรู้สึกไม่ดีให้เกิดขึ้นมากกว่าเดิมได้ จึงเห็นพ้องกันว่าไม่ควรนำมาตรา 44 มาใช้ในกรณีนี้” นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าจนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาส่งสัญญาณและย้ำชัดเจนว่ากรมสรรพากรต้องทำหน้าที่ สตง.จึงไม่จำเป็นต้องส่งหนังสือเตือนอีก และหากกรมสรรพากรทำตามหน้าที่ไม่ได้ ก็ต้องรับผิดชอบ ส่วนการประเมินวงเงินนั้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ของ สตง.ว่าจะประเมินเท่าใด แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และหากไม่มีการดำเนินการ ก็อาจจะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมยืนยันการตรวจสอบกรณีหุ้นชินฯ ในช่วงนี้ เพราะตนเพิ่งมีอำนาจเต็ม และเป็นการตรวจสอบแบบสุ่มตรวจ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงหรือมีคำสั่งจากฝ่ายบริหาร แต่เป็นการทำตามหน้าที่เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นใคร หรือชื่ออะไร และกรณีหุ้นชินฯ จะต้องมีคนรับผิดทางอาญาแน่นอน
ผู้ว่าฯ สตง. ยังกล่าวถึงกรณีการเปิดเผยรายชื่อนักการเมืองกว่า 60 รายชื่อที่มีการตรวจสอบพบการจ่ายภาษีไม่ถูกต้องในขณะนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ตรวจเฉพาะนักการเมือง แต่นักธุรกิจรายใหญ่ก็มีการตรวจสอบเช่นกัน ที่มีมูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งต้องมีคนรับผิดชอบ
“ขอแนะนำนักการเมืองที่กลัวว่าจะเข้าข่ายว่าหากรู้ตัวว่าชำระภาษีไม่ครบ ก็รีบไปชำระภาษี โดย สตง.จะพิจารณาจากความสัมพันธ์ของรายได้ และการชำระภาษีในช่วงก่อน ขณะและพ้นตำแหน่ง ทั้ง 2 รัฐบาลคือสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่ขอเปิดเผยรายชื่อนักการเมืองกว่า 60 คน เพราะการเปิดเผยชื่อใดชื่อหนึ่งจะถือเป็นการเลือกปฎิบัติ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานตรวจสอบได้มีประสิทธิภาพ” นายพิศิษฐ์ กล่าว
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าหากใช้เฉพาะมาตรา 61 ประมวลรัษฎากรนั้น เป็นเรื่องที่ยากและคาดการณ์ผลได้ยาก จึงน่าจะใช้มาตรา 44 ขยายเวลาในการอุทธรณ์ ซึ่งเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 3 วรรค 2 เพื่อขยายเวลาออกหมายเรียกกรณีผู้อยู่ต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยใช้กฎหมายที่เป็นโทษกับผู้เสียภาษี ซึ่งยอมรับว่าอาจจะอึดอัด เพราะที่ผ่านมาเป็นการดำเนินการที่เป็นคุณต่อผู้เสียภาษี
นายธีระชัย ยังเสนอว่า ควรต้องแก้กฎหมายบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อ การขายทั้งในและต่างประเทศ เหมือนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และให้สื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบด้วย
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีภาษีเชฟรอน ว่า การทุจริตของนักการเมืองและเอกชน จะทำไม่ได้ถ้าไม่มีข้าราชการให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นตัวสำคัญ เพราะรู้จักช่องโหว่ของกฎหมายดีที่สุด จึงให้คำแนะนำนักการเมืองและเอกชนให้ดำเนินการในช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ขณะที่กรณีหุ้นชินฯ ก็พบว่ามีข้าราชการให้คำแนะในการหลีกเลี่ยงเสียภาษี
“อยากให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินภาษีให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่ากลั้นแกล้งใคร หากทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว เพราะเงินเดือนที่ได้คือภาษีของประชาชน ไม่ใช่ของนักการเมือง ส่วนการกระทำของเจ้าหน้าที่บางกลุ่มที่ให้คำปรึกษาหรือเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองและนักธุรกิจในการเลี่ยงภาษี ถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรงทั้งทางวินัย กฎหมายแพ่ง และอาญาด้วย” น.ส.รสนา กล่าว.-สำนักข่าวไทย