สตูล 24 ก.พ. – “ต้นโร้ย” หรือ “ต้นถั่วขาว” พันธุ์ไม้ที่ขึ้นในพื้นที่ดินเลนตื้นๆ ใกล้ไม้ชายเลน และในช่วงเดือน ก.พ ของทุกปี ต้นโร้ยกำลังออกฝัก ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดป่าชายเลน หรือที่ทำอาชีพประมง จะออกไปเก็บฝักโร้ย หรือฝักถั่วขาว มาทำเป็นขนมกินเล่น
ขนมจาก “ต้นโร้ย” ส่วนใหญ่จะนำมาต้มคลุกมะพร้าว หรือนำมาเชื่อมกับน้ำตาลทราย ลักษณะและรสชาติคล้ายกับหัวมัน แต่จะมีความนุ่มกว่า โดยชาวบ้านจะออกไปเก็บฝักของต้นโร้ย เลือกฝักที่แก่เต็มที่
จากนั้นนำมาล้างน้ำให้สะอาด ขูดผิวออกให้หมด แล้วนำฝักโร้ยมาต้ม 3 น้ำ น้ำสุดท้ายต้มกับน้ำด่างหรือน้ำขี้เถ้า เพื่อให้รสเฝื่อนและฝาดหมดไป จากนั้นก็จะนำไปเชื่อมกับน้ำตาล ใช้ไฟอ่อน เพื่อให้น้ำตาลซึมเข้าไปในเนื้อ แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำไปคลุกกับมะพร้าวและน้ำตาล เพราะง่าย สะดวก และอร่อย
ขนมที่ทำจากฝักโร้ย ชาวบ้านนิยมนำมาเป็นขนมต้อนรับแขก หรือทำกินในวาระสำคัญ เพราะเป็นขนมที่หารับประทานได้ยาก มีเฉพาะถิ่นเท่านั้น และคนส่วนใหญ่จะทำไม่เป็น
น.ส.อริสรา อยู่ดี ชาวบ้าน ต.ตำมะลัง กล่าวว่า ขนมลูกโร้ย หรือถั่วขาวคลุกมะพร้าว ส่วนใหญ่คนไม่รู้จัก และไม่ทราบว่าลูกโร้ยนั้นกินได้ เพราะฝักดิบจะเฝื่อน ต้องผ่านวิธีการที่ต้องใช้เวลา โดยไปเก็บมาจากป่าชายเลน นำมาขูดและแช่น้ำ จากนั้นต้มจนเปื่อย และนำมาคลุกมะพร้าว เป็นอาหารว่างรับประทานเล่นของชาวบ้านแถบนี้ เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาว ต.ตำมะลัง ที่หากินยาก เพราะขั้นตอนยุ่งยาก จึงได้กินเฉพาะโอกาสพิเศษเท่านั้น สมัยก่อนตนได้กินบ่อย เพราะแม่ทำให้กิน ปัจจุบันขนมนี้ค่อยๆ หายไป ซึ่งชาวบ้านได้รื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก และมีสืบไปในชุมชนแห่งนี้. – สำนักข่าวไทย