ทำเนียบฯ 20 ก.พ.- โฆษกรัฐบาลเผยประชาชนพอใจใช้จ่ายผ่านคนละครึ่ง เฟส 4 นายกฯ ย้ำความสำเร็จของโครงการฯ รัฐเติมเงินเพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านร้านค้ารายย่อยที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
วันที่ 20 ก.พ. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ของรัฐ ในรอบปีใหม่ 2565 นี้ ประกอบด้วยโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่รัฐบาลเพิ่มวงเงินสนับสนุนในการช่วยลดภาระการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของประชาชน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.พ. 65 มีผู้ใช้สิทธิ สะสม รวม 37.65 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 35,781.37 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.22 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 33,108.8 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 16,785.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 16,323.6 ล้านบาท 2) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 12.40 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,467.72 ล้านบาท และ 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.03 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 204.85 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่มีสิทธิเดิมยืนยันและใช้จ่ายเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 และผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 ใหม่สำเร็จแล้ว เริ่มใช้จ่ายเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้ง 2 กลุ่มจะสามารถเริ่มใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565 ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 แต่ยังไม่ได้กดยืนยันสิทธิ์ยังสามารถกดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยจะต้องเริ่มใช้สิทธิโครงการฯ ระยะที่ 4 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 22.59 น. หากพ้นกำหนดดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำความสำเร็จของโครงการคนละครึ่งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 -18 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าถูกออกแบบมาเพื่อเติมเงินให้กับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ ได้มีทุนเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่อการยังชีพในแต่ละวันโดยผ่านร้านค้ารายย่อยที่ลงทะเบียนไว้ สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยได้จริง เศรษฐกิจในระบบกลับมาหนุนเวียนตามกลไก ปัญหาต่าง ๆ ค่อย ๆ คลี่คลาย อย่างไรก็ตามมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ เน้นการสร้างเสถียรภาพ ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสร้างสมดุลที่ดี ระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจเติบโตแข็งแรง ขอให้มั่นใจ รัฐบาลเข้าใจสถานการณ์ ตั้งใจแก้ปัญหาให้ดีที่สุด” นายธนกร กล่าว .-สำนักข่าวไทย