กทม. 10 ก.พ.-จุฬาฯ เผยความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” หลังทดสอบเฟสแรกในผู้ป่วย พบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อย เดินหน้าทดลองเฟส2
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบําบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 7 เรื่อง “ความก้าวหน้าวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะรายบุคคล นวัตกรรมแห่ง ความหวังของสังคมไทย” เพื่อนําเสนอความคืบหน้านวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีน
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จุฬาฯ เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล มาตั้งแต่ปี 2560 และได้ทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 กับอาสาสมัครแล้วเมื่อ มกราคม 2564 นับเป็นการทดสอบคร้ังแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยการผลิตวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ต้องนําชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วย มาตรวจหาข้อมูลการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยรายนั้นๆ เนื่องจากมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละรายมีการกลายพันธุ์ต่างกัน การผลิตวัคซีนจึงต้องทําทีละ 1 รายจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาผลิตเป็นชิ้นส่วนโปรตีนของมะเร็งที่กลายพันธุ์ เพื่อสร้างให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ใช้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง
นพ.ไตรรักษ์ ระบุว่า จากการทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็ง จํานวน 4 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา หรือมะเร็งเม็ดสี 3 ราย และมะเร็งไต 1 ราย พบว่า การฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อย เช่น มีอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่พบผลข้างเคียง รุนแรง และหลังจากการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีความจําเพาะต่อชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรายนั้น นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ตรวจติดตามการตอบสนองทางพยาธิวิทยาในผู้ป่วย 1 ราย โดยประเมินการกระจายตัวของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ในชิ้นเนื้อมะเร็ง พบว่า ก่อนฉีดวัคซีน ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่บริเวณรอบนอกก้อนมะเร็งเป็นหลัก แต่หลังได้รับวัคซีน พบว่าเม็ดเลือดขาวมีการกระจายตัวเข้าไปในชิ้นเนื้อมะเร็งมากขึ้น โดยผู้ป่วยรายนี้ยังมีอาการคงที่หลังได้รับวัคซีน
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร จุฬาฯ กล่าวว่า หลังจากนี้ทีมวิจัย จะเดินหน้าการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ในระยะที่ 2 เพื่อวิจัยประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อมะเร็งชนิดอื่น คาดว่าใช้ระยะเวลาอีก 3 ปี จึงจะสามารถนำไปขึ้นทะเบียน และใช้รักษาในโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากการทดสอบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลได้ผลดีแล้ว ยังมีการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็งคู่ขนานกันไป ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยจะเริ่มการทดสอบในสัตว์ทดสองในปี 2565 นี้ และมีเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็ง ในปี 2566 ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสําเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย