กรุงเทพฯ 9 ก.พ.- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เผยจะจัดจำหน่ายเนื้อหมูคุณภาพดี ราคาเพียงกิโลกรัมละ 140 บาท ที่ลานกิจกรรมตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. ระหว่างวันที่ 12-19 ก.พ.65 ภายใต้โครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” การันตีด้วยมาตรฐานปศุสัตว์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เปิดโครงการ “เกษตรช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ” เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการร้านอาหารจากสถานการณ์ราคาหมูแพง
โครงการนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดจำหน่ายเนื้อหมูราคาต่ำกว่าท้องตลาดระหว่างวันที่ 12 – 19 กุมภาพันธ์ 2565 หรือจนกว่าสินค้าจะหมด ณ ลานกิจกรรมตลาดริมน้ำ อ.ต.ก. เลียบคลองบางซื่อ ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กทม. ซึ่งเป็นหมูเนื้อแดง คุณภาพดี การันตีด้วยมาตรฐานปศุสัตว์ OK ในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพียงกิโลกรัมละ 140 บาท ซึ่งจะนำมาจำหน่ายรวม 150,000 กิโลกรัม โดยกำหนดซื้อได้คนละไม่เกิน 5 กิโลกรัม
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ปีหนึ่งมีรอบการผลิตหมูขุน 2.5 รอบ โดยจากตรวจพบว่า หมูพ่อพันธุ์ลดลงไปจำนวนหนึ่งจึงจะนำวิธีผสมเทียมมากใช้เพื่อเพิ่มลูกหมูเข้าสู่การขุน คาดว่า ใน 1-2 รอบการผลิต ประมาณหมูที่เพิ่มขึ้นจะทำใหราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ล่าสุดตรวจสอบห้องเย็นตรวจแล้ว 1,334 แห่ง พบเนื้อหมู 24,530,137.90 กิโลกรัม บางส่วนระบุที่มาของเนื้อหมูที่จัดเก็บไม่ได้และไม่มีใบขออนุญาตเคลื่อนย้ายจากกรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหา อย่าให้มีปัจจัยอื่นแทรกซ้อนกลไกตลาด ซึ่งหากราคาไม่ปรับสูงจนขูดเลือดขูดเนื้อผู้บริโภค จะไม่จำเป็นต้องนำเข้าเนื้อหมูเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อการเลี้ยงหมูอของเกษตรกรในประเทศ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า เดินหน้าเพิ่มปริมาณเนื้อสุกรให้มีความเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศและมีส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรรายกลางและรายย่อยกลับมาเลี้ยงใหม่ โดยกรมปศุสัตว์ต้องตรวจสอบว่า เป็นพื้นที่ที่ปลอดโรคระบาดสัตว์ ยกระดับฟาร์มให้มีระบบป้องกันความปลอดภัย ยืนยันว่า ตามมาตรการนี้ จะสามารถกลับมาเลี้ยงใหม่ได้แน่นอน โดยจะเริ่มในภาคเหนือเป็นโมเดล “ล้านนา พิก แซนด์บอกซ์” จากนั้นจะขยายไปทั่วประเทศ
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งพบครั้งแรกที่จังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา ปัจจุบันพบเพิ่มอีก 19 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี 2 จุด นครศรีธรรมราช 6 จุด ชุมพร 1 จุด มหาสารคาม 1 จุด พัทลุง 3 จุด แม่ฮ่องสอน 2 จุด ศรีสะเกษ 1จุด ขอนแก่น 1จุด บุรีรัมย์ 2 จุด ประจวบคีรีขันธ์ 3 จุด หนองบัวลำภู 2 จุด ราชบุรี 1จุด น่าน 2 จุด เชียงใหม่ 2 จุด สงขลา 1จุด ชัยภูมิ 1จุด ร้อยเอ็ด 1จุด พังงา 1 จุด และนครนายก 1จุด โดยยืนยันว่า ลักษณะการพบโรคเป็นการพบเป็นจุดๆ ไม่ได้แพร่ระบาดในวงกว้างซึ่งกรมปศุสัตว์สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้.-สำนักข่าวไทย