กทม. 1 ก.พ.- “พล.อ.ประวิตร” หนุนตั้งศูนย์คัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ ยกระดับต้านค้ามนุษย์ตามมาตรฐานสากล
1 กุมภาพันธ์ 2565 พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามและประธานอนุกรรมการภายใต้ ปคม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับและการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ร่วมกับ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่คาดหวังให้สร้างความเชื่อมั่นต่อสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ J/TIP ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เฝ้าจับตามองรัฐบาลไทยที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมในการยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพในการคัดกรองคัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีให้สามารถค้นหาระบุตัวตนเหยื่อค้ามนุษย์และแรงงานบังคับเพิ่มมากขึ้น
ไม่เพียงแต่จะต้องจัดทำขั้นตอน (Protocols) และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน (SOP) ที่ทีมงานสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบแล้ว ยังจะต้องมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นตามมาตรฐานสากล จึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กระทรวงแรงงาน สนับสนุนงบประมาณ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. ปรับปรุงที่ทำการศูนย์ฝึกอบรมสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตามมติที่ประชุม ปคม. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.64 การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ใช้เป็นที่ทำการของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล รวมทั้งใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ไปพร้อมๆ กัน โดยมีความก้าวหน้าใน (1) ด้านการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับภารกิจในการคัดกรองคัดแยกผู้เสียหายตามหลักวิชาการที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (2) ด้านการออกแบบระบบงานของทีมสหวิชาชีพและการส่งต่อเคสระหว่างทีมผู้ตรวจแรงงานและทีมพนักงานสอบสวน รวมทั้ง (3) ด้านการออกแบบระบบเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการทำงานของทีมสหวิชาชีพ โดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของเหยื่อค้ามนุษย์ (Trauma Informed Approach) ตลอดกระบวนการประเมินความช่วยเหลือ (Victim Care Assessment) และการจัดทำรายงานผลกระทบทางจิตวิทยา (Victim Impact Statement) ซึ่งมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลทั้งหมดไปยังสถานคุ้มครองผู้เสียหายทั้ง 9 แห่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด และแผนกคดีค้ามนุษย์ ศาลอาญา นอกจากนี้ ยังอาจเชื่อมโยงกับศูนย์ CAC ของคณะทำงาน TICAC สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อีกด้วย การออกแบบศูนย์นี้ ถอดแบบมาจากศูนย์ Dallas Children’s Advocacy Center (DCAC)ของสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นสถานที่พำนักช่วยคราวสำหรับผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในระหว่างเตรียมความพร้อมและสร้างความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ ก่อนการซักถามของทีมสหวิชาชีพ และการรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้น โดยได้มีการจำลองย่อส่วนศูนย์ DCAC มาใช้ในประเทศไทย 5 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต อุบลราชธานี และกาญจนบุรี การใช้สอยพื้นที่ในอาคาร สามารถรองรับบุคคลที่มีเหตุสงสัยอาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์และแรงงานบังคับได้สูงถึง 100 คน โดยมีพื้นที่พักรอบนชั้น 3 สำหรับลงทะเบียน ระบุตัวตน ออกบัตร เข้ารับการตรวจร่างกาย ก่อนขึ้นพักตามห้องที่จัดไว้บนชั้น 4 ถึงชั้น 6 สำหรับขั้นตอนการคัดกรองคัดแยกผู้เสียหาย จะใช้ห้องซักถามที่ออกแบบให้มีความอบอุ่นผ่อนคลาย ปราศจากแรงกดดัน มีลักษณะเป็นห้องรับแขกสำหรับผู้เข้ารับการซักถาม กับผู้ซักถาม พร้อมล่ามหากเป็นกรณีคนต่างด้าว หรือกรณีเด็กอาจร้องขอให้มีผู้ปกครองหรือผู้ที่ไว้วางใจ โดยทีมสหวิชาชีพผู้ร่วมรับฟังการซักถามรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องจะแยกอยู่ในห้องเฝ้าฟัง ที่มีจอภาพและเครื่องมือสื่อสารในการติดต่อกับผู้ทำหน้าที่ซักถาม รูปแบบการจัดของห้องซักถามและห้องเฝ้าฟัง เป็นไปตามมาตรฐานเทียบเท่าศูนย์ DCAC ต้นแบบของสหรัฐอเมริกา และศูนย์ CAC ของ TICAC ที่ได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจาก HSI, FBI สำนักงานกรุงเทพของสหรัฐอเมริกา และ มูลนิธิ For Freedom International (FFI) ภูเก็ต ซึ่งจะเป็นศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เต็มรูปแบบแห่งแรกในอาเซียน .-สำนักข่าวไทย