จันทบุรี 28 ม.ค.-ปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ดิน บวกกับราคายางตกต่ำ ชาวสวน อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี พลิกวิกฤติ ทางรอดใหม่ ปลูกพลู เพื่อการส่งออก สร้างรายได้งามให้ชุมชน
หลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ต้องประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ บวกกับต้องเจอปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่ทำกิน ถือว่ามีผลต่อภาคการเกษตรของ อ.แก่งหางแมว เกษตรกรจึงหันมาปลูก “พลู” เป็นพืชทดแทน เนื่องจากพลูเก็บกลางวันได้ ไม่ต้องกลัวช้าง ต่างจากการกรีดยางกลางคืน เป็นช่วงที่ช้างออกหากิน จึงเกิดความเสี่ยงต่อคนกรีดยาง อีกทั้งพลูเป็นพืชที่ช้างไม่ชอบกิน จึงสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า ด้วยการปลูกพลูและจำหน่ายพลู ไปยังประเทศไต้หวัน
นางสาว จุรีย์พร วงษ์แก้ว เกษตรกรในพื้นที่ ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว บอกว่าการทำแปลงปลูกพลูเขียวเพื่อตัดใบนี้ เป็นการเดินมาถูกทางกับปัญหาลดการรุกรานของช้างป่า เนื่องจากใบพลูเมื่อขยี้ จะมีกลิ่นฉุนแบบเผ็ดร้อนของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งกลิ่นแสบร้อนของน้ำมันจากใบพลู ไม่เป็นที่ชื่นชอบของช้างป่า และไม่เคยเข้ามาข้องเกี่ยวกับแปลงที่ปลูกพลูไว้
สำหรับแม่พันธุ์พลูเขียว หาซื้อมาจากจังหวัดในภาคใต้ และนำกลับมาปลูกในพื้นที่หมู่ที่ 15 ตำบลขุนซ่อง ที่มีภูมิประเทศติดกับภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ กับสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกับภาคใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ทำให้เกิดโรคและแมลงค่อนข้างน้อย การจัดการง่ายไม่ต้องใช้พื้นที่ปลูกมาก สามารถปลูกแซมได้ในสวนยางพารา หรือปลูกรอบๆ บริเวณบ้านได้ จึงตัดสินใจพลิกวิกฤติด้วยการปลูกพลูเสริม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตัวเองและชุมชน ขณะนี้มีการรวมกลุ่มกัน ปลูกพลูเขียว จำนวน 30 ราย
ขณะที่ ข้อมูลของเกษตรอำเภอแก่งหางแมว ระบุว่า ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ เริ่มหันมาปลูกพลูเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพลูนั้นพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกพลูได้ 400 ต้น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 300 กิโลกรัมต่อเดือน ใบพลูสดคุณภาพดี มีราคาระหว่าง 40–250 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนใบพลูเสีย นำไปสกัดเป็นน้ำมันพลู
สำหรับการตลาดมีทั้งตลาดในประเทศ จะส่งไปขายยังปากคลองตลาด และตลาดไท ที่คนนิยมซื้อไปทำพลูม้วน ทำเครื่องเซ่นไหว้ ส่วนต่างประเทศ ตลาดส่งออก คือ ประเทศไต้หวัน และประเทศอินเดีย ที่มีความต้องการพลูจากไทยสูง.-สำนักข่าวไทย